คณะกรรมการบริษัทยังคงสืบสานเจตนารมณ์อันมุ่งมั่นในการที่จะยกระดับ การกำกับดูแลกิจการของบริษัทให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล คณะกรรมการบริษัทจึงได้นำ เอาแบบประเมินตนเอง เรื่องการปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Corporate Governance Self Assessment) มาใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาระบบการกำกับดูแลกิจการของบริษัทให้เป็นไปตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Good Corporate Governance) ที่กำหนดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อให้บริษัทมีระบบบริหารการจัดการที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งครอบคลุมถึงเรื่องการให้ความสำคัญต่อสิทธิของผู้ถือหุ้นการปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน บทบาทของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียการเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส และความรับผิดชอบของคณะกรรมการ

ทั้งนี้ ในปี 2565 คณะกรรมการบริษัทฯ ได้ปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการตามแนวปฏิบัติที่ดีของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ ASEAN CG SCORECARD ดังนี้

  • คณะกรรมการได้พิจารณาและทบทวนการนำหลักปฎิบัติตาม CG Code ของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ไปปรับใช้ตามบริบททางธุรกิจของบริษัท เพื่อเป็นหลักปฎิบัติให้คณะกรรมการบริษัทและรักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นเป็นสำคัญ
  • ได้รับการประเมิน จากโครงการสำรวจการกำกับดูแลกิจการ (Corporate Governance Reporting : CGR) ให้เป็น 1 ใน 296 บริษัทจดทะเบียนที่มีระดับการกำกับดูแลกิจการ “ดีเลิศ” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 จากสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย และเมื่อเปรียบเทียบคะแนนเฉลี่ยของบริษัทที่ทำการสำรวจทั้งหมด 750 บริษัท ทั้งภาพรวมและรายหมวด พบว่าสูงกว่าคะแนนเฉลี่ยของบริษัทที่ทำการสำรวจทั้งหมด

รายละเอียดเกี่ยวกับการปฏิบัติในเรื่อง การกำกับดูแลกิจการที่ดีที่บริษัทจะรายงานให้ทราบซึ่งแบ่งออกเป็น 5 หมวด ดังนี้

1.1 นโยบายในการกำกับดูแลกิจการที่ดีเกี่ยวกับการดูแลสิทธิของผู้ถือหุ้น

คณะกรรมการบริษัทได้กำหนดนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดีเกี่ยวกับการดูแลสิทธิของผู้ถือหุ้นที่เป็นลายลักษณ์อักษรขึ้นเมื่อปี 2552 โดยมุ่งเน้นให้ผู้ถือหุ้นได้มีโอกาสรับรู้ผลการดำเนินงานของบริษัทอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจต่างๆที่สำคัญ ตลอดจนปกป้องส่งเสริมสนับสนุนและไม่ลิดรอนสิทธิของผู้ถือหุ้นโดยกำหนดนโยบายไว้ดังนี้

นโยบายเกี่ยวกับการดูแลสิทธิของผู้ถือหุ้น

  1. คณะกรรมการบริษัทมีหน้าที่ในการปกป้องและเคารพสิทธิของผู้ถือหุ้นขั้นพื้นฐาน ได้แก่ สิทธิการซื้อขายหรือโอนหุ้นสิทธิในการมีส่วนแบ่งในกำไรของกิจการ สิทธิในการได้รับข่าวสารข้อมูลกิจการอย่างเพียงพอ สิทธิในการเข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อแต่งตั้งหรือถอดถอนกรรมการ การแต่งตั้งผู้สอบบัญชี การจัดสรรเงินปันผล การกำหนดหรือแก้ไขข้อบังคับ หรือหนังสือบริคณห์สนธิ การลดทุนหรือเพิ่มทุน การอนุมัติรายการพิเศษ เป็นต้น
  2. คณะกรรมการบริษัทมีหน้าที่ในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ ผู้ถือหุ้นใช้สิทธิในเรื่องต่างๆ ในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี ได้แก่ สิทธิในการเสนอวาระการประชุมผู้ถือหุ้นล่วงหน้า สิทธิในการเสนอบุคคลเพื่อคัดเลือกเป็นกรรมการล่วงหน้า สิทธิในการส่งคำถามต่อที่ประชุมล่วงหน้าก่อนการประชุม สิทธิในการแสดงความคิดเห็นและตั้งคำถามต่อที่ประชุม เป็นต้น
  3. คณะกรรมการบริษัทมีหน้าที่ในการงดเว้นการกระทำใดๆ อันเป็นการละเมิด หรือจำกัดสิทธิหรือการลิดรอนสิทธิของผู้ถือหุ้นในการศึกษาสารสนเทศของบริษัทที่ต้องเปิดเผยตามข้อกำหนดต่างๆ และการเข้าประชุมผู้ถือหุ้น เช่น ไม่แจกเอกสารที่มีข้อมูลสำคัญเพิ่มเติมอย่างกะทันหัน ไม่เพิ่มวาระการประชุม หรือเปลี่ยนแปลงข้อมูลสำคัญโดยไม่ได้แจ้งให้ผู้ถือหุ้นทราบล่วงหน้าเป็นต้น
  4. คณะกรรมการบริษัทมีหน้าที่ในการอำนวยความสะดวกให้ผู้ถือหุ้นใช้สิทธิต่างๆ เช่น การให้ข้อมูลสำคัญที่เป็นปัจจุบันผ่านทางเว็บไซต์ของบริษัทการจัดให้ผู้ถือหุ้นเข้าเยี่ยมชมกิจการ เป็นต้น
  5. เปิดเผยโครงสร้างผู้ถือหุ้นอย่างชัดเจน เพื่อให้ผู้ถือหุ้นมั่นใจว่าบริษัทฯ มีโครงสร้างการดำเนินงานที่มีความโปร่งใสและตรวจสอบได้ โดยไม่มีการถือหุ้นที่ซับซ้อน ไม่มีผู้ถือหุ้นร่วม และไม่มีผู้ถือหุ้นไขว้ รวมถึงไม่มีการถือหุ้นแบบปิรามิดในกลุ่มของบริษัทฯ
  6. เผยแพร่สารสนเทศ รายละเอียดการใช้สิทธิในเรื่องต่างๆ ผ่านระบบข่าวของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและเว็บไซต์ของบริษัท โดยคำนึงถึงความเท่าเทียมกัยในการรับนู้ข่าวสาร ระยะเวลาในการใช้สิทธิ และความสะดวกในการใช้สิทธิ โดยจะไม่กระทำการใดๆ อันเป็นการจำกัดสิทธิในการเข้าถึงสารสนเทศของบริษัทหรือการปิดกั้นการติดต่อสื่อสารระหว่างผู้ถือหุ้นด้วยกัน
1.2 การเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นศึกษาข้อมูลก่อนวันประชุมผู้ถือหุ้นล่วงหน้า

คณะกรรมการบริษัทและฝ่ายจัดการได้นำนโยบายสิทธิของผู้ถือหุ้นมาปฏิบัติ และมีความครอบคลุมมากกว่าสิทธิตามกฎหมายโดยเฉพาะสิทธิในการรับรู้ข้อมูลและสารสนเทศ สำหรับการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2565 เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2565 โดยเป็นการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-AGM) บริษัทได้เปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นศึกษาข้อมูลก่อนวันประชุมผู้ถือหุ้นล่วงหน้า โดยผ่านทางเว็บไซต์ของบริษัท ในวันที่ 17 มีนาคม 2565 เป็นเวลา 22 วัน ก่อนการประชุม และเผยแพร่ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษพร้อมกัน โดยมีข้อมูลเหมือนกับข้อมูลในรูปแบบเอกสารที่บริษัทจะจัดส่งให้ผู้ถือหุ้นซึ่งเปิดเผยข้อมูลดังต่อไปนี้

  1. หนังสือเชิญประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2565
  2. เอกสารแนบ 1 ขั้นตอนและวิธีการบลงทะเบียนเข้าร่วมประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-AGM) และการมอบฉันทะการลงคะแนนเสียง และการนับคะแนนเสียง
  3. เอกสารแนบ 2 รายงานการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2564
  4. เอกสารแนบ 3 รายงานแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี/รายงานประจำปี 2565 (แบบ 56-1 One Report) ในรูปแบบ QR-Code
  5. เอกสารแนบ 4 ประวัติโดยสังเขปของบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้ได้รับการเลือกตั้งแทนกรรมการที่ต้องออกตามวาระและนิยามกรรมการอิสระ
  6. เอกสารแนบ 5 ข้อมูลค่าตอบแทนและเบี้ยประชุมสำหรับกรรมการ ประจำปี 2565
  7. เอกสารแนบ 6 ข้อมูลรายนามผู้สอบบัญชีและรายละเอียดค่าสอบบัญชี
  8. เอกสารแนบ 7 หนังสือมอบฉันทะ คำชี้แจงวิธีการมอบฉันทะ การลงทะเบียนหลักฐานการแสดงตนเข้าร่วมประชุม และการออกเสียงลงคะแนนในการประชุมผู้ถือหุ้น
  9. เอกสารแนบ 8 ประวัติกรรมการอิสระที่เป็นตัวแทนในการรับมอบฉันทะ
  10. เอกสารแนบ 9 ข้อบังคับบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการประชุมผู้ถือหุ้น
  11. เอกสารแนบ 10 นโยบายความเป็นส่วนตัวที่เกี่ยวกับการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น

ในการจัดส่งเอกสารการประชุมผู้ถือหุ้นบริษัทได้มอบหมายให้บริษัทศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นนายทะเบียนหุ้นของบริษัท เป็นผู้จัดส่งหนังสือเชิญประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2565 ให้แก่ผู้ถือหุ้นล่วงหน้าก่อนวันประชุม 7 วัน ซึ่งมีช่วงระยะเวลาในการจัดส่งเอกสารมากกว่าตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้ ทั้งนี้เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นได้มีระยะเวลาศึกษาข้อมูลมากขึ้น

  • ในวันประชุมผู้ถือหุ้นบริษัทได้อำนวยความสะดวกแก่ผู้ถือหุ้นในการใช้สิทธิเข้าร่วมประชุม บริษัทใช้ระบบการคำนวณคะแนนเสียงของ DAP e-Shareholder Meeting และแสดงผลสรุปของคะแนนเสียงในทุกวาระอย่างชัดเจน
  • นำส่งมติที่ประชุมพร้อมรายละเอียด จำนวนคะแนนเสียงในแต่ละวาระอย่างชัดเจนแก่ตลาดหลักทรัพย์ฯ และบนเว็บไซต์ของบริษัทฯ ภายในวันประชุมเพื่อให้ผู้ถือหุ้นที่ไม่ได้เข้าร่วมประชุมรับทราบในทันที
  • ผู้ถือหุ้นสามารถรับชมเทปบันทึกภาพการประชุมผู้ถือหุ้นผ่านเว็บคาสต์ (Webcast) บนเว็บไซต์ของบริษัทฯ
  • จัดทำรายงานการประชุมผู้ถือหุ้นทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษเผยแพร่ทางตลาดหลักทรัพย์ และเว็บไซต์ของบริษัทภายใน 14 วันนับจากวันประชุม และนำส่งสำเนารายงานการประชุมผู้ถือหุ้นผ่านทางตลาดหลักทรัพย์ภายในเวลาที่กำหนด
1.3 การป้องกันกรณีการจำกัดโอกาสของผู้ถือหุ้นในการศึกษาข้อมูลและสารสนเทศ

คณะกรรมการบริษัทได้ส่งเสริมการใช้สิทธิของผู้ถือหุ้นและไม่จำกัดสิทธิของผู้ถือหุ้น โดยมีการเปิดเผยข้อมูลสารสนเทศผ่านทางเว็บไซต์ของบริษัทล่วงหน้า ทั้งในการเข้าประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2565 บริษัทไม่มีการแจกโดยกะทันหัน ซึ่งเอกสารที่มีข้อมูลสำคัญเพิ่มเติมในที่ประชุม ไม่มีการเพิ่มวาระการประชุมหรือเปลี่ยนแปลงข้อมูลสำคัญโดยไม่แจ้งให้ผู้ถือหุ้นทราบล่วงหน้า

  • บริษัทจัดให้มีที่ปรึกษากฎหมายที่เป็นอิสระจากภายนอก เพื่อทำหน้าที่ในการดูแลให้การประชุมเป็นไปอย่างโปร่งใส ถูกต้องตามกฎหมายและข้อบังคับของบริษัท
1.4 การอำนวยความสะดวกให้กับผู้ถือหุ้นในการใช้สิทธิ
  • บริษัทอำนวยความสะดวกให้กับผู้ถือหุ้นและผู้รับมอบฉันทะของผู้ถือหุ้น เปิดให้ผู้ถือหุ้นลงทะเบียน (Pre-Register) ได้ตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2565 โดยได้แนบคู่มือการใช้งานระบบประชุมอิเล็กทรอนิกส์ (DAP e-Shareholder Meeting) ในเอกสารแนบของหนังสือเชิญประชุมฯ
  • บริษัทใช้ระบบการคำนวณคะแนนเสียงของ DAP e-Shareholder Meeting และแสดงผลสรุปของคะแนนเสียงในทุกวาระอย่างชัดเจน
  • บริษัทได้แจ้งกฎเกณฑ์และวิธีการในการเข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้นให้ผู้ถือหุ้นทราบในหนังสือเชิญประชุม รวมทั้งในวันประชุมผู้ถือหุ้น ผู้ดำเนินการประชุม ได้แจ้งกฎเกณฑ์ที่ใช้ในการประชุม และขั้นตอนการออกเสียงลงมติให้ผู้ถือหุ้นทราบ และได้มีการบันทึกการแจ้งกฎเกณฑ์ และขั้นตอนการออกเสียงลงมติดังกล่าว ลงในรายงานการประชุมผู้ถือหุ้นทุกครั้ง
  • บริษัทยังเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นใช้สิทธิในการเข้าเยี่ยมชมบริษัทและเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นได้รับข้อมูลข่าวสารและสารสนเทศที่เป็นข้อมูลปัจจุบันผ่านทางเว็บไซต์ของบริษัทอย่างสม่ำเสมอ
1.5 การจัดสรรเวลาและการเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นร่วมแสดงความคิดเห็น
  • บริษัทได้เปิดโอกาสให้สิทธิผู้ถือหุ้นสามารถเข้าร่วมประชุมภายหลังจากการเริ่มประชุมไปแล้ว โดยมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนได้เฉพาะวาระที่ที่ประชุมยังไม่ได้พิจารณาลงมติ
  • บริษัทได้เปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นแสดงความคิดเห็นและซักถามอย่างเต็มที่ โดยมีประธานกรรมการ ประธานคณะกรรมการตรวจสอบ ประธานคณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ผู้บริหารระดับสูง และผู้สอบบัญชี เข้าร่วมประชุมเพื่อตอบข้อซักถามของผู้ถือหุ้นโดยมีทั้งผู้ถือหุ้นที่ส่งคำถามผ่านระบบโดยการส่งข้อความ และสอบถามด้วยตนเอง
  • บริษัทได้มีการบันทึกข้อซักถามในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับวาระการประชุมหรือเกี่ยวข้องกับบริษัท และแสดงความคิดเห็นของผู้ถือหุ้น รวมทั้งคำชี้แจงของคณะกรรมการบริษัท และ/หรือผู้บริหารลงในรายงานการประชุมผู้ถือหุ้นทุกครั้ง
  • บริษัทจัดให้มีการบันทึกเสียงการประชุมผู้ถือหุ้นและเปิดเผยรายละเอียดสาระสำคัญของการซักถามในระหว่างการประชุมไว้ในรายงานการประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อสามารถใช้อ้างอิงในภายหลัง และช่วยให้ผู้ถือหุ้น ที่ไม่สามารถเข้าร่วมการประชุมสามารถติดตามรายละเอียดได้
1.6 การเข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้นของคณะกรรมการ

คณะกรรมการบริษัทได้ให้ความสำคัญและเคารพสิทธิของผู้ถือหุ้นในการจัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำ ปี 2565 มีคณะกรรมการบริษัทเข้าร่วมประชุม 11 คน คิดเป็น 100% จึงสรุปได้ว่า บริษัทยังให้ความสำคัญ และพัฒนาการจัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2565 ให้มีความเคร่งครัดตามแนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดีที่กำหนดไว้อย่างต่อเนื่อง

คณะกรรมการบริษัทคำนึงถึงการปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน จึงได้กำหนดนโยบายในการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ถือหุ้นส่วนน้อยไว้ดังต่อไปนี้

  • บริษัทได้เปิดโอกาสและอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ถือหุ้นที่ถือหุ้นอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 100,000 หุ้น โดยอาจเป็นผู้ถือหุ้นรายเดียว หรือหลายรายรวมกันก็ได้ และเป็นการถือหุ้นอย่างต่อเนื่องนับจากวันที่ถือหุ้นจนถึงวันที่เสนอเรื่อง เพื่อบรรจุในวาระการประชุมเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 12 เดือน ได้เสนอวาระในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นเป็นการล่วงหน้า โดยได้จัดทำหลักเกณฑ์การพิจารณาเผยแพร่ผ่านระบบข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและเว็บไซต์ของบริษัทล่วงหน้าเป็นเวลา 3 เดือนก่อนวันประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2565 (ตั้งแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน 2563 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2565) ซึ่งมีเลขานุการคณะกรรมการบริษัท ทำหน้าที่เป็นผู้รวบรวมวาระการประชุมและนำ เสนอต่อกรรมการอิสระ เพื่อพิจารณาก่อนในเบื้องต้น หากกรรมการอิสระพิจารณาแล้ว เห็นว่ามีความเหมาะสม ก็ให้นำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 เพื่อพิจารณาออกเป็นระเบียบวาระการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นต่อไป ซึ่งปรากฏว่าในปี 2565 ไม่มีผู้ถือหุ้นเสนอวาระการประชุมล่วงหน้า
  • บริษัทได้เปิดโอกาสและอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ถือหุ้นที่ถือหุ้นที่ประสงค์จะเสนอชื่อบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเข้าดำรงตำแหน่งกรรมการล่วงหน้า โดยได้จัดทำหลักเกณฑ์การพิจารณาเผยแพร่ผ่านระบบข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและเว็บไซต์ของบริษัทล่วงหน้าเป็นเวลา 3 เดือนก่อนวันประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2565 (ตั้งแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน 2564 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2565) ซึ่งมีเลขานุการคณะกรรมการบริษัททำหน้าที่เป็นผู้รวบรวมข้อมูลประกอบการพิจารณาด้านคุณสมบัติและการให้ความยินยอมของผู้ได้รับการเสนอชื่อแล้วนำเสนอต่อคณะกรรมการสรรหาเพื่อพิจารณาคุณสมบัติของบุคคลที่ผู้ถือหุ้นส่วนน้อยเสนอมาตามกระบวนการสรรหาที่บริษัทได้กำหนดไว้ โดยหากคณะกรรมการสรรหาพิจารณาแล้วว่ามีความเหมาะสมก็ให้นำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 เพื่อพิจารณาเสนอที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นต่อไป ซึ่ง ปรากฏว่า ในปี 2565 ไม่มี ผู้ถือหุ้นเสนอรายชื่อ
  • คณะกรรมการบริษัทได้ปฏิบัติตามนโยบายเกี่ยวกับการดูแลสิทธิของผู้ถือหุ้นที่ได้กำหนดไว้ โดยในการประชุมผู้ถือหุ้นคณะกรรมการบริษัทได้ดำเนินการประชุมผู้ถือหุ้นเป็นไปตามระเบียบวาระการประชุมอย่างเคร่งครัด โดยไม่มีการแจกเอกสารที่มีข้อมูลสำคัญเพิ่มเติมอย่างกะทันหัน และไม่มีการเพิ่มวาระการประชุมหรือเปลี่ยนแปลงข้อมูลสำคัญ โดยไม่ได้แจ้งให้ผู้ถือหุ้นทราบเป็นการล่วงหน้า
  • คณะกรรมการบริษัทสนับสนุนให้ผู้ถือหุ้นใช้หนังสือมอบฉันทะในรูปแบบที่ผู้ถือหุ้นสามารถกำหนดทิศทางการลงคะแนนเสียงเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย งดออกเสียง โดยได้จัดทำหนังสือมอบฉันทะแบบ ข ขึ้น นอกจากนี้บริษัทยังได้จัดทำหนังสือมอบฉันทะแบบ ก (แบบมอบฉันทะทั่วไป) และหนังสือมอบฉันทะแบบ ค (แบบมอบฉันทะเฉพาะสำหรับ custodian) ให้แก่ผู้ถือหุ้น โดยเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ในวันที่ 17 มีนาคม 2565 ล่วงหน้าเป็นเวลา 22 วัน ก่อนวันประชุมสำหรับให้ดาวน์โหลดอีกด้วย
  • คณะกรรมการบริษัทอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ถือหุ้นที่ไม่สะดวกเข้าร่วมประชุมได้ด้วยตนเอง แต่มีความประสงค์จะใช้สิทธิในการลงคะแนนเสียงโดยวิธีการมอบฉันทะ โดยบริษัทได้เสนอให้มีกรรมการอิสระเข้าประชุม และลงคะแนนเสียงแทนผู้ถือหุ้นจำนวน 1 คน คือ

    นายชัย จรุงธนาภิบาล
    (ประธานกรรมการตรวจสอบและกรรมการอิสระ)

เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ถือหุ้นได้ใช้สิทธิเลือกกรรมการอิสระเป็นผู้รับมอบฉันทะแทนผู้ถือหุ้นได้

  • คณะกรรมการบริษัทเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนน โดยใช้ระบบการคำนวณคะแนนเสียงของ DAP e-Shareholder Meeting และแสดงผลสรุปของคะแนนเสียงในทุกวาระอย่างชัดเจน เช่น การพิจารณาอนุมัติจ่ายเงินปันผล การพิจารณาอนุมัติกำหนดค่าตอบแทนผู้สอบบัญชี การพิจารณาอนุมัติแต่งตั้งกรรมการแยกเป็นรายบุคคล เป็นต้น รายละเอียดการนับคะแนนเสียงดังกล่าวมีการบันทึกไว้ในรายงานการประชุมผู้ถือหุ้นทุกครั้ง เพื่อความโปร่งใสและตรวจสอบได้ในกรณีหากมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นในภายหลังมาตรการป้องกันกรรมการผู้บริหารและพนักงานใช้ข้อมูลภายในเพื่อหาผลประโยชน์แก่ตนเองหรือผู้อื่นในทางมิชอบ
  • บริษัทเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารให้แก่ผู้ถือหุ้นอย่างสม่ำเสมอผ่านช่องทางของตลาดหลักทรัพย์ และเว็บไซต์ของบริษัทฯ จัดให้มีช่องทางที่ผู้ถือหุ้นสามารถติดต่อขอรับข้อมูลหรือสอบถามได้โดยตรงผ่านทาง Email ของคณะกรรมการบริษัท คณะกรรมการอิสระ และหน่วยงานนักลงทุนสัมพันธ์
  • มีระเบียบบังคับใช้ภายในบริษัทฯ เรื่องการใช้ข้อมูลภายในอย่างชัดเจน สอดคล้องกับกฎหมายเกี่ยวกับหลักทรัพย์และมีการทบทวนสม่ำเสมอ เพื่อให้เกิดความยุติธรรมและเสมอภาคต่อมีผู้มีส่วนได้เสียทุกราย ดังนี้
    1. แจ้งกฎเกณฑ์ และนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการใช้ข้อมูลภายในให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานได้รับทราบอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้มั่นใจว่ากฎเกณฑ์และนโยบายดังกล่าวเป็นที่รับทราบและปฏิบัติตาม
    2. ห้ามซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทฯ ในช่วงเวลาก่อนเปิดเผยงบการเงินต่อสาธารณชน 1 เดือน โดยสายงานเลขานุการบริษัทจะแจ้งให้กรรมการและผู้บริหารได้ทราบช่วงเวลาการซื้อขาย (Silent Period) ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวไม่มีผู้บริหารซื้อขายหุ้น
    3. เปิดเผยการถือหลักทรัพย์ของกรรมการและผู้บริหารในแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี/รายงานประจำปี (แบบ 56-1 One Report) อย่างครบถ้วนตามที่สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนด นอกจากนี้คณะกรรมการบริษัท ได้มีการติดตามผลการปฏิบัติตามหลักจริยธรรมธุรกิจ เรื่องการใช้ข้อมูลภายในโดยกำหนดให้กรรมการและผู้บริหารส่งสำเนารายงานการเปลี่ยนแปลงการถือหลักทรัพย์ให้สายงานเลขานุการบริษัทเพื่อรายงานต่อคณะกรรมการบริษัท
    4. บริษัทได้มีข้อกำหนดกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการทำรายงานเกี่ยวโยง และการทำรายการระหว่างกันไว้อย่างชัดเจน และเป็นไปตามกฎเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์และ ก.ล.ต. โดยกำหนดเรื่องที่ต้องรายงานคณะกรรมการหรือผู้ถือหุ้นไว้อย่างชัดเจน รวมถึงระมัดระวังไม่ให้มีการทำรายการที่เกี่ยวโยงกันหรือโดยฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์หรือ ก.ล.ต.

บริษัทตระหนักและให้ความสำคัญต่อสิทธิของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม ซึ่งไม่เพียงแต่เฉพาะตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น ในปีที่ผ่านมาบริษัทได้พิจารณาชี้บ่งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียขึ้นใหม่พร้อมกับกำหนดเป็นนโยบายเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี โดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของบริษัทแบ่งออกเป็น 8 กลุ่ม ดังนี้

  1. พนักงานและครอบครัว
  2. ลูกค้าและเจ้าหนี้
  3. ผู้ถือหุ้น
  4. พันธมิตรทางธุรกิจ
  5. นักวิเคราะห์ นักลงทุนและสถาบันการเงิน
  6. คู่แข่งทางการค้า
  7. ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม
  8. หน่วยงานราชการและองค์กรที่เกี่ยวข้อง

คณะกรรมการบริษัทได้กำหนดนโยบายและมาตรการในการดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียดังต่อไปนี้

1. พนักงานและครอบครัว

นโยบายเกี่ยวกับการดูแลพนักงานและครอบครัว

  1. บริษัทให้ผลตอบแทนแก่พนักงานโดยยึดหลักพิจารณาผลงานด้วยความเป็นธรรม และสามารถวัดผลได้ อาทิ รายได้ค่าตอบแทนรายเดือน รายได้จากการทำงานล่วงเวลา โบนัสประจำปี การประกันชีวิต และประกันสุขภาพ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นต้น
  2. บริษัทมุ่งส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถอย่างต่อเนื่อง อาทิ จัดให้มีการอบรมและสัมมนาผู้บริหารและพนักงานทุกระดับ เป็นต้น
  3. บริษัทปฏิบัติต่อพนักงานทุกคนด้วยความเป็นธรรมและความเท่าเทียมกัน อาทิ การประเมินผลงานของพนักงาน การรักษาความลับ ประวัติการทำงาน และการใช้สิทธิต่างๆ ของพนักงาน เป็นต้น
  4. บริษัทคำนึงถึงสิทธิของพนักงานเป็นสำคัญ และเปิดโอกาสให้พนักงานร้องเรียน กรณีพนักงานไม่ได้รับความเป็นธรรมผ่านช่องทางต่างๆ เช่น อีเมล์หน่วยงานฝ่ายทรัพยากรบุคคลที่รับเรื่อง อินทราเน็ต เป็นต้น ตามระบบและกระบวนการที่กำหนด
  5. บริษัทมีหน้าที่ดูแลจัดสภาพแวดล้อมในการทำงานให้มีความปลอดภัยถูกสุขลักษณะและเอื้อต่อการทำงานอย่างมีประสิทธิผล
  6. บริษัทให้ความเคารพต่อความเป็นปัจเจกชนและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ไม่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน
2. ลูกค้าและเจ้าหนี้

นโยบายเกี่ยวกับการดูแลลูกค้า

  1. บริษัทมีหน้าที่ในการสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือในระยะยาวกับลูกค้าโดยยึดหลักความซื่อสัตย์สุจริตความเชื่อถือและไว้วางใจซึ่งกันและกัน
  2. บริษัทมีหน้าที่ในการสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้กับลูกค้าของบริษัทด้วยการรับผิดชอบ เอาใจใส่ และให้ความสำคัญต่อปัญหาและความต้องการของลูกค้าอันดับแรก โดยให้ผู้บริหารและพนักงานทุกคนปฏิบัติตามมาตรการดังต่อไปนี้
    • ยึดมั่นในการนำเสนอและส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการที่ได้มาตรฐานคุณภาพตรงกับความต้องการของลูกค้า
    • ยึดถือปฏิบัติตามเงื่อนไขต่างๆ ที่ได้ทำข้อตกลงไว้กับลูกค้าอย่างดีที่สุด
    • การเสนอราคาและเงื่อนไขการค้าให้แก่ลูกค้าที่จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกันต้องมีความเท่าเทียมกัน
    • ให้ข้อมูลที่ถูกต้องตรงความเป็นจริงแก่ลูกค้าเกี่ยวกับคุณสมบัติและคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความเป็นธรรมให้กับลูกค้าของบริษัท
    • พร้อมที่จะตอบคำถามของลูกค้า รวมทั้งการดำเนินการเกี่ยวกับข้อร้องเรียน การให้คำแนะนำ และการติดตามผลความคืบหน้าในประเด็นต่างๆ ที่ได้รับแจ้งจากลูกค้า

นโยบายเกี่ยวกับการดูแลเจ้าหนี้

บริษัทฯ มีนโยบายที่จะให้การปฏิบัติต่อคู่ค้าอย่างเสมอภาค และเป็นธรรม โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของบริษัท และตั้งอยู่บนพื้นฐานที่เป็นธรรมต่อทั้งสองฝ่าย หลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ทำให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ รวมทั้งปฏิบัติตามพันธสัญญา ให้ข้อมูลที่เป็นจริง รายงานที่ถูกต้อง ปฏิบัติตามเงื่อนไขต่างๆ ที่ตกลงกันไว้กับคู่ค้าอย่างเคร่งครัด ในกรณีที่ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไหขข้อใดได้ ต้องรีบแจ้งล่วงหน้า เพื่อร่วมกันพิจารณาหาแนวทางแก้ไขเกณฑ์การคัดเลือกเข้าเป็นคู่ค้า ครอบคลุม 6 ด้าน ดังนี้

  1. สถานภาพทางการเงิน
  2. ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์
  3. ความสามารถทางเทคนิค
  4. ประวัติที่เกี่ยวข้องกับการร้องเรียน รวมถึงการไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน การไม่ใช้แรงงานผิดกฎหมาย ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
  5. ความขัดแย้งทางผลประโยชน์/ รายการเกี่ยวข้อง
  6. นโยบายต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่น และนโยบายด้านคุณภาพ

บริษัทฯ มีนโยบายที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไข สัญญา และข้อผูกพักที่ตกลงกันไว้กับเจ้าหนี้อย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวัตถุประสงค์การใช้เงิน การชำระคืน การดูแลคุณภาพหลักทรัพย์ค้ำประกัน และเรื่องอื่นใดที่ได้ให้ข้อตกลงไว้กับเจ้าหนี้ ในกรณีที่ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่งได้ บริษัทจะรีบแจ้งให้เจ้าหนี้ทราบโดยเร็ว เพื่อร่วมกันพิจารณาหาแนวทางแก้ไข โดยบริษัทมุ่งมั่นในการรักษาสัมพันธภาพที่ยั่งยืนกับเจ้าหนี้ และให้ความเชื่อถือซึ่งกันและกันโดยกำหนดแนวทางในการบริหารเงินทุน เพื่อสร้างความมั่นคงที่แข็งแกร่ง และป้องกันมิให้บริษัทอยู่ในฐานะที่ยากลำบากต่อการชำระหนี้คืนแก่เจ้าหนี้ และให้ความสำคัญต่อการบริหารสภาพคล่องทางการเงิน โดยการวางแผนชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้อย่างชัดเจนและตรงตามเวลาที่กำหนด

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการบริษัท ได้ให้ความสำคัญต่อการติดตามวางแผนและควบคุมสภาพคล่องทางการเงินให้มีความเหมาะสมกับกิจกรรมทางการเงินของบริษัท โดยมีกระบวนการประเมินความสามารถเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่มีนัยสำคัญครบทุกด้าน ทั้งภายใต้ภาวะปกติและภาวะวิกฤต

3. ผู้ถือหุ้น

นโยบายเกี่ยวกับการดูแลผู้ถือหุ้น

  1. บริษัทมีหน้าที่ที่ต้องปกป้อง และเคารพสิทธิของผู้ถือหุ้นขั้นพื้นฐาน ได้แก่ สิทธิการซื้อขายหรือโอนหุ้น สิทธิในการมีส่วนแบ่งในกำไรของกิจการ สิทธิในการได้รับข่าวสารข้อมูลกิจการอย่างเพียงพอ สิทธิในการเข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อแต่งตั้งหรือถอดถอนกรรมการ การแต่งตั้งผู้สอบบัญชี การจัดสรรเงินปันผลการกำหนด หรือแก้ไขข้อบังคับหรือหนังสือบริคณห์สนธิ การลดทุนหรือเพิ่มทุน การอนุมัติรายการพิเศษ เป็นต้น
  2. บริษัทมีหน้าที่ที่ต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ถือหุ้นใช้สิทธิในเรื่องต่างๆ ในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี ได้แก่สิทธิในการเสนอวาระการประชุมผู้ถือหุ้นล่วงหน้า สิทธิในการเสนอบุคคลเพื่อคัดเลือกเป็นกรรมการล่วงหน้า สิทธิในการส่งคำถามต่อที่ประชุมล่วงหน้าก่อนการประชุม สิทธิแสดงความคิดเห็นและตั้งคำถามต่อที่ประชุมผ่านทางเว็บไซต์ เป็นต้น
  3. บริษัทต้องไม่กระทำการใดๆ อันเป็นการละเมิดหรือจำกัดสิทธิของผู้ถือหุ้น
  4. บริษัทต้องปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ตลอดจนตัดสินในดำเนินการใดๆ ด้วยความรอบคอบและเป็นธรรม เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ถือหุ้นโดยรวม นำเสนอรายงาน ผลประกอบการ ข้อมูลทางการเงิน และรายงานอื่นๆ โดยสม่ำเสมอ และครบถ้วนตามความเป็นจริงและทันเหตุการณ์ โดยแจ้งให้ผู้ถือหุ้นทุกรายทราบอย่างเท่าเทียมกัน
4. พันธมิตรทางธุรกิจ (คู่ค้า)

นโยบายเกี่ยวกับการดูแลพันธมิตรทางธุรกิจ (คู่ค้า)

  1. บริษัทมีหน้าที่ในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคู่ค้าทุกราย
  2. บริษัทมีหน้าที่ในการเปิดโอกาสให้คู่ค้าทุกรายนำเสนอสินค้าบริการได้โดยเท่าเทียมกัน โดยให้ผู้บริหาร และพนักงานที่เกี่ยวข้องกับคู่ค้าต้องปฏิบัติตามมาตรการต่อไปนี้
    • ต้องปฏิบัติงานต่อคู่ค้าด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และมีความเท่าเทียมกัน
    • การพิจารณาและตัดสินใจต้องอยู่บนพื้นฐานของการเปรียบเทียบคุณภาพและเงื่อนไขต่างๆ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของบริษัทในระยะสั้นและระยะยาว
    • ต้องรักษาความลับของคู่ค้า โดยห้ามมิให้มีการรับสินบนหรือ ค่านายหน้าใดๆ จากคู่ค้า ส่งเสริมให้คู่ค้าร่วมต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น รวมถึงห้ามเปิดเผยข้อมูล หรือข้อเสนอของคู่ค้ารายหนึ่ง หรือหลายราย ให้กับคู่ค้ารายอื่นๆ รับทราบทั้งทางตรงและทางอ้อม
    • ส่งเสริมประกอบธุรกิจโดยมีความรับผิดชอบต่อสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังและต่อเนื่อง รวมถึงมีกระบวนการสรรหาอย่างมีความรับผิดชอบ (Ethical Sourcing) และเคารพในสิทธิมนุษยชน (Human Rights)
5. นักวิเคราะห์ นักลงทุนและสถาบันการเงิน

นโยบายเกี่ยวกับการดูแลนักวิเคราะห์ นักลงทุนและสถาบันการเงิน

  1. บริษัทเปิดโอกาสให้นักวิเคราะห์ นักลงทุนและสถาบันการเงินได้รับทราบข้อมูลการดำเนินงานของบริษัท และแนวโน้มผลประกอบการในอนาคตได้ตามความเหมาะสม และเป็นไปตามเงื่อนไขของกฎหมายและการกำกับดูแลกิจการที่ดี ในเรื่องการเปิดเผยข้อมูล
  2. บริษัทจะอำนวยความสะดวกโดยจัดทำข้อมูลแนะนำการลงทุนของบริษัทให้แก่นักลงทุนผ่านช่องทางเว็บไซต์
6. คู่แข่ง

นโยบายเกี่ยวกับคู่แข่ง

บริษัทดำเนินธุรกิจภายใต้กรอบกติกาของการแข่งขันที่เป็นธรรม ไม่แสวงหาข้อมูลที่เป็นความลับของคู่แข่งทางการค้าด้วยวิธีการที่ไม่สุจริตหรือไม่เหมาะสม และไม่กระทำการใดๆ ที่ทำลายชื่อเสียงของคู่แข่งทางการค้าด้วยการกล่าวหาในทางเสื่อมเสียโดยปราศจากข้อมูลความจริงและขัดต่อจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจ

7. ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม

นโยบายเกี่ยวกับชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม

บริษัทมุ่งมั่นที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาสังคมอย่างต่อเนื่อง จึงได้ก่อตั้ง มูลนิธิ เมเจอร์ แคร์ เพื่อหวังระดมทุนช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสในสังคม และพัฒนาสังคมรอบด้าน โดยการส่งเสริมกิจกรรมเพื่อสังคม สาธารณะประโยชน์ และการศึกษา และจากการดำเนินธุรกิจของบริษัทที่เป็นผู้ให้ความบันเทิงซึ่งเกี่ยวข้องกับสังคมเป็นอย่างมาก ดังนั้น เพื่อป้องกัน มิให้การดำเนินธุรกิจสร้างผลกระทบต่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม บริษัทจึงให้ความสำคัญในการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องตามกฎหมาย กฎระเบียบ และมาตรฐานที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด โดยบริษัทสนับสนุนให้ความรู้และจัดให้มีกิจกรรมรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อเสริมสร้างและปลุกจิตสำนึกให้กับผู้บริหารและพนักงานทุกคนในการความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม

รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับนโยบายความปลอดภัย ความมั่นคง อาชีวอนามัย สิ่งแวดล้อม และพลังงาน สามารถดูได้ที่เว็บไซด์ของบริษัทฯ (www.majorcineplex.com)

8. หน่วยงานราชการ และองค์กรที่เกี่ยวข้อง

บริษัทฯยึดถือการปฎิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องในด้านต่างๆ อย่างเคร่งครัดทั้งต่อสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย แรงงาน การจัดการด้านภาษีอากรและบัญชี รวมทั้งกฎ ระเบียบและประกาศต่างๆของทางราชการที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจของบริษัทด้วย

สิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 บริษัทไม่มีการปฏิบัติฝ่าฝืนกฎหมายด้านแรงงาน การจ้างงาน การแข่งขันทางการค้าและสิ่งแวดล้อมแต่อย่างใด นอกเหนือจากแนวทางการดำเนินการดังกล่าวข้างต้น คณะกรรมการบริษัทได้กำหนดแนวทางการดำเนินการในด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบต่อสังคมและการดูแลและปกป้องสิทธิประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสีย ดังนี้

นโยบายเกี่ยวกับความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล

บริษัทได้ยึดมั่นที่จะบริหารการจัดการด้านการรักษาข้อมูลส่วนบุคคลซึ่งเป็นข้อมูลส่วนตัวของลูกค้า คู่ค้า พนักงาน และปฏิบัติตามกฎระเบียบต่างๆตามที่กฎหมายกำหนด รวมถึงควบคุมดูแลอย่างเข้มงวดรัดกุมทั้งด้านเอกสารและระบบปฏิบัติการเพื่อรักษาข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า คู่ค้า พนักงานให้ปลอดภัย มีเสถียรภาพ และโปร่งใส เพื่อรองรับการบังคับใช้ของ พรบ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ที่บังคับใช้ภายในปี พ.ศ. 2565 บริษัทได้มีการดำเนินการ ดังนี้

  1. บริษัทได้แต่งตั้งคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลขององค์กร เพื่อมีหน้าทีดูแลและจัดเตรียมแผนงานต่างๆ โดยวิเคราะห์และปรับปรุงกระบวนการทำงาน กำหนดนโยบายและวิธีปฏิบัติต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนด โดยคณะกรรมการประกอบด้วยผู้บริหาร และพนักงานที่มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ด้านเทคโนโลยี
  2. คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลมีหน้าที่กำหนดนโยบายและแผนการดำเนินงานเกี่ยวข้องกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อให้เป็นมาตรฐานในการทำงานของบริษัทและสอดคล้องกับข้อกฎหมาย
  3. การกำหนดมาตรการต่างๆ เกี่ยวกับการกำหนดวัตถุประสงค์ เงื่อนไขการแจ้ง การขอความยินยอม การเก็บรวบรวมข้อมูล การใช้ข้อมูล หรือการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด พร้อมกำกับการดูแล ให้คำปรึกษา สนับสนุน ส่งเสริม และทบทวนนโยบายเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ
  4. คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลได้แต่งตั้งผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล (Data Protection Officer : DPO) ซึ่งมีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลและตรวจสอบเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึงการประเมินความเสี่ยง การจัดการคำร้องและข้อร้องเรียนต่างๆ
  5. บริษัทใช้ระบบรักษาความปลอดภัยที่มีมาตรฐานสูงทั้งในด้านเทคโนโลยี และกระบวนการเพื่อป้องกันการโจรกรรมข้อมูลที่เป็นความลับ และพัฒนาบุคลากรทุกระดับ เพื่อให้มั่นใจได้ว่า บริษัทมีการรักษาความปลอดภัยด้านข้อมูลที่ได้มาตรฐานด้วยมาตรการต่างๆ เช่น การติดตั้ง Firewall และซอฟต์แวร์ตรวจจับการบุกรุกการใช้เทคโนโลยีเข้ารหัสข้อมูล (Data Encryption) การติดตั้งซอฟต์แวร์ Scan Virus เพื่อป้องกันไวรัสอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการกำหนดสิทธิ์การใช้งานระดับ (Level of Authorization) โดยเปิดให้ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมที่ได้ที่นโนบายความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลบนเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก และไลน์แอปพลิเคชั่นของบริษัท

นอกจากนี้ บริษัทได้ให้การอบรมเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจแก่พนักงานเรื่องการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลรวมถึงมีการนำเรื่องการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลเป็นส่วนหนึ่งในการประเมินผลการทำงานของพนักงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมของนโยบายความปลอดภัยของข้อมูลที่เว็บไซต์ของบริษัท https://www.majorcineplex.com/news/privacy-policy

สถิติความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล

2563 2564 2565
จำนวนข้อเรียกร้องเรียนเรื่องการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคล 0 0 0
จำนวนข้อเรียกร้องเรียนเรื่องการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคลจากหน่วยงานกำกับดูแล 0 0 0

การดำเนินการหลังการเกิดผลกระทบต่อข้อมูลส่วนบุคคล

บริษัทมีขั้นตอนที่ชัดเจนเพื่อจัดการกับการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งในกรณีที่เกิดผลกระทบต่อข้อมูล ฝ่ายตรวจสอบภายในและทีมงานที่ดูแลเกี่ยวกับการรักษาข้อมูลจะมีการดำเนินการตรวจสอบสาเหตุ และการจัดทำแผนบริหารความเสี่ยงเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดเหตุการณ์ที่มีผลกระทบต่อข้อมูลส่วนบุคคล และมีการแจ้งคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Personal Data Protection Committee) และรายงานต่อเนื่องให้คณะกรรมการ เพื่อป้องกันการละเมิดข้อมูลในอนาคต

นโยบายและแนวปฏิบัติด้านทรัพย์สินทางปัญญา

บริษัทดำเนินธุรกิจภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งด้านลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร หรือทรัพย์สินทางปัญญา ด้านอื่นที่กฎหมายกำหนด เช่น การใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้อง เป็นต้น ดังนั้นการนำผลงานต่างๆ มาใช้ภายในบริษัทจะต้องมีการตรวจสอบเพื่อให้มั่นใจว่าการใช้ผลงานเหล่านั้นจะไม่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่น รวมทั้งได้ส่งเสริมให้พนักงานมีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับข้อกำหนดของกฎหมาย และความเสียหายที่เกิดขึ้นกรณีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา

นโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน

การเคารพและปฏิบัติตามกฎหมายเป็นพื้นฐานสำคัญในการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ซึ่งรวมถึงกฎหมายภายในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงาน โดยมุ่งยกระดับมาตรฐานการปฏิบัติให้สูงกว่าข้อกำหนดตามกฎหมาย

บริษัทเคารพการปกป้องสิทธิมนุษยชนและสนับสนุนหลักการและเป้าหมายด้านสิทธิมนุษยชนในระดับสากล อาทิ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration on Human Rights) และปฏิญญาว่าด้วยหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงาน (Declaration of Fundamental Principles and Rights at Work) ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ เป็นต้น บริษัทจึงดูแลไม่ให้ธุรกิจของบริษัทเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น ไม่สนับสนุนการบังคับใช้แรงงาน (Forced Labor) ต่อต้านการใช้แรงงานเด็ก (Child Labor) และมีการกำหนดชั่วโมงการทำงานตามกฎหมายแรงงาน ให้ความเคารพนับถือและปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายด้วยความเป็นธรรมบนพื้นฐานของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่แบ่งแยกถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ เพศ อายุ สีผว ศาสนา สภาพร่างกาย ฐานะ ชาติตระกูลตลอดจนส่งเสริมให้มีการเฝ้าระวังการปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านสิทธิมนุษยชนภายในบริษัท และส่งเสริมให้บริษัทย่อย ผู้ร่วมทุน คู่ค้า และผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนตามมาตรฐานสากล คุ้มครองสิทธิของผู้มีส่วนได้เสียที่ได้รับความเสียหายจากการละเมิดสิทธิอันเกิดจากการดำเนินธุรกิจของบริษัท โดยการพิจารณาชดเชยค่าเสียหายให้ไม่ต่ำกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด

รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับนโยบายความรับผิดชอบทางธุรกิจต่อการเคารพสิทธิมนุษยชน สามารถดูได้ที่เว็บไซด์ของบริษัทฯ (www.majorcineplex.com)

นโยบายและแนวปฏิบัติการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่น

เพื่อให้กรรมการ พนักงาน และบุคคลใดๆ ที่กระทำการแทนกลุ่มบริษัทดำเนินธุรกิจอย่างถูกต้อง โปร่งใส ยุติธรรม และสามารถตรวจสอบได้ โดยสอดคล้องกับกฎหมายและจริยธรรมธุรกิจ บริษัทจึงได้กำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งคณะกรรมการบริษัทได้มอบหมายให้กรรมการตรวจสอบเป็นผู้ดูแลและกำหนดแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่น สำหรับนโยบายและแนวปฏิบัติการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่น บริษัทได้มีการกำหนดไว้ในระเบียบการรับเรื่องร้องเรียนหรือเบาะแสการทุจริตและการให้ความคุ้มครองผู้ร้องเรียน

แนวปฏิบัติเกี่ยวกับการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่น

บุคคลใดก็ตามที่ทราบเรื่องร้องเรียนหรือเบาะแสสามารถแจ้งเรื่องร้องเรียนหรือเบาะแสได้ผ่านช่องทางการร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแส โดยบริษัทส่งเสริมให้ผู้แจ้งเรื่องร้องเรียนเปิดเผยตัวตนต่อหน่วยงานที่รับแจ้งเรื่องร้องเรียน ซึ่งหน่วยงานดังกล่าวจะให้ความคุ้มครองต่อผู้แจ้งเรื่องร้องเรียนหรือเบาะแส และข้อมูลจะถูกเก็บรักษาเป็นความลับไม่เปิดเผยต่อผู้ไม่เกี่ยวข้องและหน่วยงานที่รับผิดชอบจะทำหน้าที่รวบรวม คัดกรอง ตรวจสอบข้อร้องเรียนหรือเบาะแสตามขั้นตอน หากการสอบสวนสิ้นสุดและผู้ถูกแจ้งกระทำความผิดจริง บทลงโทษจะเป็นไปตามนโยบาย กฎระเบียบของกลุ่มบริษัท และเสียงข้างมากของคณะอนุกรรมการสอบสวนความผิด ตลอดจนโทษตามกฎหมายอื่น และหัวหน้าหน่วยงานตรวจสอบภายในจะเป็นผู้รายงานผลกรณีทุจริตที่เกิดขึ้น ต่อคณะกรรมการตรวจสอบเป็นประจำทุกเดือน

นอกจากนี้ บริษัทฯ โดยความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน ได้แก่ หน่วยงานความยั่งยืนขององค์กร หน่วยงานตรวจสอบภายใน และหน่วยงานบริหารทรัพยากรมนุษย์ จัดโครงการฝึกอบรมแนวทางการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2562 เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีและจรรยาบรรณธุรกิจ ความเสี่ยงของโอกาสในการเกิดทุจริตแก่พนักงานในระดับบริหาร และระดับปฏิบัติการ เพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญของการปฏิบัติงานอย่างมีจรรยาบรรณ ประเด็นความเสี่ยงในการเกิดการทุจริตและการควบคุมความเสี่ยงเพื่อการป้องกันการทุจริต และสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรด้ายการปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี พร้อมทั้งสนับสนุนให้พนักงานช่วยกันเฝ้าระวัง ป้องกัน และติดตามการทุจริต

No Gift Policy

การรับและการให้ของขวัญ การเลี้ยง หรือประโยชน์อื่นใดอาจเป็นจุดเริ่มต้นอย่างหนึ่งของโอกาสในการเกิดทุจริต บริษัทฯ จึงได้กำหนดแนวปฏิบัติตามนโยบายการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่นเรื่องการรับ-ให้ของขวัญ การเลี้ยง หรือประโยชน์อื่นใด และประกาศใช้ทั่วทั้งองค์กร เพื่อให้บุคลากรของกลุ่มบริษัทฯ ถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด โดยจะไม่เรียกร้อง/ไม่รับของขวัญ ของกำนัล การเลี้ยงรับรอง หรือสิ่งตอบแทนใดๆ จากผู้ร่วมดำเนินธุรกิจกับกลุ่มบริษัทฯ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความลังเลใจในการปฏิบัติหน้าที่ หรือการเลือกปฏิบัติ หรือการกระทำใดๆ ที่ก่อให้เกิดผลประโยชน์ที่ขัดกัน และสื่อสารให้แก่บุคคลภายนอกที่มีส่วนร่วมในการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ได้รับทราบ เพื่อรักษามาตรฐานการปฏิบัติงานของบริษัทฯ ให้เป็นไปอย่างโปร่งใส ซื่อสัตย์สุจริต ถูกต้องตามกฎหมาย

รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับจรรยาบรรณธุรกิจ สามารถดูได้ที่เว็บไซด์ของบริษัทฯ (www.majorcineplex.com).

ช่องทางการร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแส

บริษัทฯ มีคณะกรรมการตรวจสอบและหน่วยงานทำหน้าที่ให้คำปรึกษา และรับข้อร้องเรียนด้านคุณธรรมและจริยธรรม โดยดำเนินการรับเรื่องร้องเรียน รวบรวม สืบค้น และมีคณะกรรมการพิจารณาตัดสินเรื่องนั้นๆ ซึ่งจะดำเนินการเก็บรักษาเป็นความลับ ทั้งข้อมูลของผู้ร้องเรียน ผู้ถูกร้องเรียน เรื่องร้องเรียน พยานต่างๆ เป็นต้น ซึ่งพนักงานตลอดจนผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มสามารถส่งข้อร้องเรียนโดยตรงมายังช่องทางที่อยู่ต่อไปนี้

1. จดหมายส่งทางไปรษณีย์ ระบุหน้าซองถึงผู้รับแจ้งเบาะแสท่านใดท่านหนึ่ง ดังต่อไปนี้

  • ประธานคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการ (กรรมการอิสระ)
  • ประธานคณะกรรมการตรวจสอบ (กรรมการอิสระ)
  • เลขานุการบริษัท

โดยส่งมายังที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของบริษัทฯ

  • บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน)
  • ที่อยู่ 1839, 1839/1-6 (ชั้น 8) ถนนพหลโยธิน
  • แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพ 10900

2. อีเมล : auditcom@majorcineplex.com

มาตรการคุ้มครองผู้ที่ปฏิเสธการคอร์รัปชั่น

บริษัทให้ความเป็นธรรมและคุ้มครองผู้ที่ปฏิเสธการคอร์รัปชั่น โดยกำหนดมาตรการคุ้มครองผู้ที่ปฏิเสธการ คอร์รัปชั่น ดังนี้

  1. ปกปิดเรื่องดังกล่าวเป็นความลับ ไม่เปิดเผยแก่บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้อง
  2. ห้ามไม่ให้ผู้บังคับบัญชา บังคับหรือขู่เข็ญทั้งทางตรงและทางอ้อม
  3. ไม่นำเหตุดังกล่าวไปประกอบการพิจารณาลงโทษใด ๆ ไม่ลดตำแหน่ง หรือให้ผลทางลบต่อผู้ที่ปฏิเสธการคอร์รัปชั่น ในทุกกรณี แม้ว่าการปฏิเสธการคอร์รัปชั่นนั้น จะทำให้บริษัทต้องสูญเสียโอกาสทางธุรกิจ
  4. หากผู้บังคับบัญชาของผู้ที่ปฏิเสธการคอร์รัปชั่นดังกล่าว ใช้เหตุจากการที่ผู้นั้นปฏิเสธการคอร์รัปชั่น ไปในทางเลือกปฏิบัติ บริษัทถือว่าผู้บังคับบัญชาดังกล่าว ฝ่าฝืนนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่นของบริษัท ซึ่งจะต้องได้รับการพิจารณาโทษตามความเหมาะสม

บริษัทฯ ได้เปิดเผยนโยบายการแจ้งเบาะแสการกระทำผิด (Whistle-blowing policy) ไว้ในนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี ซึ่งได้เผยแพร่ไว้บนเ website ของบริษัทตาม link ที่ปรากฎนี้ https://investor.majorcineplex.com/th/sustainable-development/anti-corruption-and-anti-bribery

4.1 ผลการปฏิบัตินโยบายเกี่ยวกับการกำกับดูแลกิจการที่ดี
  • ในรอบปี 2565 บริษัทได้ทำการเปิดเผยข้อมูลของบริษัททั้งข้อมูลทางการเงิน และข้อมูลที่มิใช่ข้อมูลทางการเงินต่างๆ ตามเกณฑ์ที่กำหนดโดยสำนักงาน ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอย่างถูกต้อง ครบถ้วน ทันเวลา และโปร่งใสผ่านช่องทางระบบ Online ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและผ่านทางเว็บไซต์ของบริษัท อีกทั้งไม่เคยถูกสำนักงาน ก.ล.ต.หรือตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยดำเนินการเนื่องมาจากการเปิดเผยข้อมูลไม่เป็นไปตามกำหนด
  • นอกจากนี้บริษัทยังได้นำข้อมูลสารสนเทศต่างๆ ที่ได้เปิดเผยต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รวมถึงข่าวสารต่างๆของบริษัทเปิดเผยผ่านทางเว็บไซต์ของบริษัท และปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันอย่างสม่ำเสมอ และจัดให้มีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ซึ่งบริษัทได้เผยแพร่รายงานประจำปีภายใน 120 วัน นับแต่สิ้นสุดของรอบปีบัญชี เพื่อให้ผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้ทราบข้อมูลอย่างเท่าเทียมกัน
4.2 ค่าตอบแทนกรรมการและผู้บริหาร

คณะกรรมการกำหนดค่าตอบแทนได้กำหนดนโยบายการจ่ายค่าตอบแทน กรรมการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร รวมถึงผู้บริหารระดับสูงสำหรับปี 2565 ไว้ดังต่อไปนี้

นโยบายการจ่ายค่าตอบแทนกรรมการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้บริหารระดับสูง

  1. การจ่ายค่าตอบแทนกรรมการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้บริหารระดับสูงจะต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมกับภาระหน้าที่ความรับผิดชอบที่ได้รับมอบหมาย ความยุติธรรมและการจูงใจที่เพียงพอ การเทียบเคียงกับค่าตอบแทน กรรมการในบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่อยู่ในอุตสาหกรรมและธุรกิจที่มีขนาดใกล้เคียงกัน รวมถึงพิจารณาผลประกอบการ ผลงาน สภาพแวดล้อมทางธุรกิจ และภาวะเศรษฐกิจโดยรวม
  2. โดยคณะกรรมการกำหนดค่าตอบแทนจะเป็นผู้พิจารณาในเบื้องต้น และนำเสนอคณะกรรมการบริษัทพิจารณาอนุมัติให้ความเห็นชอบและนำเสนอต่อที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปีเพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป ซึ่งได้แก่ การอนุมัติวงเงินค่าตอบแทนสูงสุดในแต่ละปี และการกำหนดค่าตอบแทนประจำตำแหน่ง
  3. ทั้งนี้คณะกรรมการกำหนดค่าตอบแทนจะต้องปฏิบัติตามมติที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นที่ได้อนุมัติวงเงินค่าตอบแทนและรายละเอียดค่าตอบแทนโดยเปิดเผยไว้ในรายงานประจำปี นอกจากนี้ยังต้องเปิดเผยรวมถึงส่วนที่กรรมการได้รับจากการทำหน้าที่อื่นให้บริษัท เช่น ที่ปรึกษาและรวมถึงส่วนที่ได้รับจากการเป็นกรรมการและการทำหน้าที่อื่น เช่น ที่ปรึกษาในบริษัทย่อย เป็นต้น
  4. ในการกำหนดค่าตอบแทนให้แยกกรรมการที่ทำหน้าที่ในฝ่ายบริหารและได้รับค่าตอบแทนในรูปเงินเดือนจากบริษัท มิให้ได้รับค่าตอบแทนกรรมการ

คณะกรรมการกำหนดค่าตอบแทนได้พิจารณานำเสนอวงเงินและรายละเอียดการตอบแทนกรรมการเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท และที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2565 เพื่ออนุมัติกำหนดค่าตอบแทนกรรมการ ในวงเงินไม่เกิน 12.58 ล้านบาทต่อปีแก่กรรมการซึ่งมิได้เป็นพนักงานและผู้บริหาร รายละเอียดปรากฏอยู่ในหัวข้อค่าตอบแทนกรรมการและผู้บริหาร ทั้งนี้กรรมการของบริษัทที่เป็นกรรมการของบริษัทย่อยจะไม่ได้รับค่าตอบแทนจากบริษัทย่อย

4.3 รายงานของคณะกรรมการบริษัท

บริษัทได้มีการจัดทำรายงานความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริษัทต่อรายงานทางการเงินแสดงควบคู่กับรายงานของผู้สอบบัญชีรายละเอียดปรากฏในหัวข้อรายงานความรับผิดชอบของคณะกรรมการต่อรายงานทางการเงิน

4.4 บทบาทและหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัทและคณะอนุกรรมการ

คณะกรรมการบริษัทได้ปฏิบัติหน้าที่ในการจัดการกิจการของบริษัทให้เป็นไปตามกรอบของกฎหมายวัตถุประสงค์และข้อบังคับของบริษัท ตลอดจนมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ระมัดระวัง รักษาผลประโยชน์สูงสุดของผู้ถือหุ้น นอกจากนี้คณะกรรมการบริษัทได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นเพื่อช่วยในการศึกษารายละเอียดติดตามควบคุมการปฏิบัติงานและกลั่นกรองงานต่างๆ ที่ได้รับมอบหมาย

4.5 ความสัมพันธ์กับผู้ลงทุน

คณะกรรมการบริษัทมีนโยบายเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลสารสนเทศที่สำคัญของบริษัทอย่างถูกต้อง ครบถ้วน เชื่อถือได้เพียงพอ ทันเวลา และโปร่งใส รวมถึงข้อมูลทั่วไปที่มีความสำคัญที่อาจกระทบต่อราคาหลักทรัพย์ของบริษัทได้ โดยมอบหมายให้มีหน่วยงานรับผิดชอบงานด้านนักลงทุนสัมพันธ์ (Investor Relations) ขึ้นเพื่อเป็นตัวแทนในการสื่อสารกับผู้ลงทุนประเภทสถาบัน ผู้ถือหุ้น รวมทั้งนักวิเคราะห์ทั่วไป และภาครัฐที่เกี่ยวข้องและสามารถดูได้จากเว็บไซต์ของบริษัท ซึ่งใช้เป็นช่องทางในการเผยแพร่ข้อมูลสารสนเทศต่างๆ เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับบริษัท ข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจ ข้อมูลทางการเงิน ข่าวบริษัทที่มีผลต่อการตัดสินใจลงทุน ข่าวแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ข่าวกิจกรรมต่างๆ ของบริษัทรายละเอียดการจัดประชุมผู้ถือหุ้น เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้นักลงทุนสามารถติดตามข้อมูลของบริษัทได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น

บริษัทได้จัดทำแผนนักลงทุนสัมพันธ์โดยสังเขป และแผนดังกล่าวอาจมีการเปลี่ยนแปลงแล้วแต่โอกาส และความเหมาะสมซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

  1. จัดประชุมนักวิเคราะห์เป็นประจำอย่างน้อยไตรมาสละ 1 ครั้งและในกรณีหากนักวิเคราะห์ประสงค์ที่จะสอบถามข้อมูลในเรื่องอื่นเพิ่มเติม บริษัทก็จะเชิญให้นักวิเคราะห์เข้ามาพบฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์เป็นกรณีๆ ไป
  2. จัด Roadshow ในต่างประเทศอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
  3. ร่วมออกบูธนิทรรศการที่จัดขึ้นเพื่อเผยแพร่และให้ข้อมูลแก่นักลงทุน เช่น ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ และองค์กรอื่นๆ

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ทำให้กิจกรรมต่างๆ ต้องเปลี่ยนรูปแบบการประชุมแบบปกติ (Physical Meeting) เป็นการทำทั้งผ่านระบบ Web Conference และ Physical Meeting อย่างไรก็ตาม บริษัทได้เปิดโอกาสให้นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ ผู้ถือหุ้น และนักลงทุนสถาบันทั้งในและต่างประเทศเข้าพบผู้บริหารอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ลงทุนทราบถึงข้อมูลผลการดำเนินงาน ผลกระทบของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (Covid-19) แผนกลยุทธ์ แนวทางการเติบโต รวมถึงสรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรอบปีและตอบข้อซักถาม

กิจกรรมในปี 2565 จำนวนครั้ง
ให้ข้อมูลนักวิเคราะห์ กองทุน และผู้ถือหุ้น 85
การประชุมทางโทรศัพท์กับกองทุนต่างประเทศ 48
การพบปะผู้ลงทุนสถาบัน ผู้ลงทุนทั่วไป นักวิเคราะห์ 222
เยี่ยมชมบริษัทฯ (Site Visit) 2
โรดโชว์ (Road Show) ในประเทศ และต่างประเทศ 3

นอกจากนี้ ในปี 2565 บริษัทฯ ได้จัดให้มีการแถลงข่าว 1 ครั้งเกี่ยวกับผลประกอบการและทิศทางการดำเนินธุรกิจในปี 2565 และได้มีการทำจดหมายข่าวเกี่ยวกับผลประกอบการของบริษัทและมีการแจ้งข่าวเกี่ยวกับความคืบหน้าของการดำเนินธุรกิจและกิจกรรมทางการตลาดต่างๆ ตลอดทั้งปี

อีกทั้งผู้ลงทุนสามารถสอบถามข้อมูลผ่านทางนักลงทุนสัมพันธ์ (Investor Relations - IR) โทร. 02 511 5427 ต่อ 893, 275 หรือในลักษณะการเข้าพบ one on one และ group meeting หรือทางเว็บไซต์ของบริษัท

5.1 นโยบายเกี่ยวกับการกำกับดูแลกิจการที่ดี

คณะกรรมการบริษัทมีเจตนารมณ์ที่จะกำกับดูแลธุรกิจโดยยึดมั่นในหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี ด้วยตระหนักถึงประโยชน์และความสำคัญของการกำกับดูแลกิจการที่ดี ซึ่งมีส่วนช่วยให้การบริหารงานและการดำเนินงานมีประสิทธิภาพ โปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้และส่งผลให้บริษัทเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและเพิ่มคุณค่าให้กับผู้ถือหุ้นในระยะยาว คณะกรรมการบริษัทและฝ่ายจัดการจึงได้กำหนดหลักการกำกับกิจการที่ดีเป็นนโยบายอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรและคณะกรรมการบริษัทให้ความเห็นชอบนโยบายดังกล่าวดังมีรายละเอียดนโยบายการกำกับกิจการที่ดีต่อไปนี้

  • การคำนึงถึงสิทธิของผู้ถือหุ้นและการให้สิทธิกับผู้ถือหุ้นในเรื่องต่างๆ เช่น มีสิทธิเสนอวาระการประชุมผู้ถือหุ้นล่วงหน้ามีสิทธิเสนอบุคคลเพื่อคัดเลือกเป็นกรรมการล่วงหน้า เป็นต้น ตลอดจนไม่กระทำการใดๆ อันเป็นการละเมิดหรือริดรอนสิทธิของผู้ถือหุ้น
  • การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้น ผู้ลงทุน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และผู้เกี่ยวข้องอย่างเท่าเทียมกันและเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย
  • การเปิดเผยข้อมูลต่อผู้ถือหุ้น ผู้ลงทุน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้เกี่ยวข้องอย่างถูกต้อง เพียงพอ ทั่วถึง เท่าเทียมกันและภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยผ่านช่องทางที่เหมาะสม เพื่อให้ผู้ถือหุ้นและผู้เกี่ยวข้องต่างๆ สามารถเข้าถึงข้อมูลได้โดยสะดวกเช่น ผ่านทางเว็บไซต์ของบริษัท เป็นต้น
  • การปฏิบัติหน้าที่และความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริษัทในการกำกับดูแลและการบริหารงานด้วยความซื่อสัตย์ มีคุณธรรมรอบคอบและระมัดระวัง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของบริษัทและให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อบริษัทและผู้ถือหุ้น ตลอดจนดูแลมิให้เกิดปัญหาความขัดแย้งด้านผลประโยชน์ต่างๆ
  • การบริหารงานด้วยความโปร่งใส ภายใต้ระบบการควบคุมและการตรวจสอบภายใน
  • การควบคุมและการบริหารความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมกับการดำเนินกิจการของบริษัท
  • การดำเนินธุรกิจด้วยความซื่อสัตย์สุจริตภายใต้กรอบของกฎหมาย และจริยธรรมทางธุรกิจ
5.2 โครงสร้างคณะกรรมการ
  • คณะกรรมการบริษัทประกอบด้วยกรรมการจำนวน 11 คนซึ่งมีคุณสมบัติที่หลากหลายทั้งในด้านทักษะประสบการณ์ความสามารถเฉพาะด้านที่เป็นประโยชน์กับบริษัท โดยไม่จำกัดเพศ อายุ ศาสนา สัญชาติ รวมทั้งการอุทิศเวลาและความพยายามในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อเสริมสร้างให้บริษัทมีคณะกรรมการที่เข้มแข็ง
  • คณะกรรมการบริษัทคำนึงถึงการบริหารงานที่โปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้เป็นสำคัญ ดังนั้นประธานกรรมการของบริษัทจึงเป็นกรรมการอิสระ และไม่เป็นบุคคลคนเดียวกับประธานเจ้าหน้าที่บริหารหรือกรรมการผู้อำนวยการ
  • สำหรับกระบวนการสรรหากรรมการ คณะกรรมการบริษัทได้กำหนดวิธีการที่เป็นทางการ และยึดหลักความโปร่งใสไว้เป็นสำคัญโดยปราศจากอิทธิพลของผู้ถือหุ้นที่มีอำนาจควบคุมหรือฝ่ายบริหาร คือ คณะกรรมการสรรหาจะเป็นผู้สรรหาบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการโดยทำการพิจารณาคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสม โดยพิจารณาคุณวุฒิความสามารถ ประสบการณ์ทำงาน ฯลฯ เพื่อให้ตรงกับภาระหน้าที่ของกรรมการบริษัทและ/หรือในคณะอนุกรรมการต่างๆ และเมื่อคัดเลือกกรรมการที่เหมาะสมได้แล้ว จึงนำเสนอคณะกรรมการบริษัทเพื่อพิจารณาอนุมัติแต่งตั้งเป็นกรรมการต่อไป
  • คณะกรรมการบริษัทได้จัดให้มีการเปิดเผยรายชื่อของคณะกรรมการบริษัทและคณะอนุกรรมการ โดยเปิดเผยชื่อกรรมการ รายบุคคล ตำแหน่ง อายุ ประวัติการศึกษา สัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทประสบการณ์ทำงาน และความสัมพันธ์ระหว่างผู้บริหารโดยได้เปิดเผยไว้ผ่านช่องทางต่างๆ ทั้งในรายงานประจำปีและเว็บไซต์ของบริษัท
5.3 ภาวะผู้นำและวิสัยทัศน์
  • คณะกรรมการบริษัทมีภาวะผู้นำ วิสัยทัศน์ และมีความเป็นอิสระในการตัดสินใจเพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัทและผู้ถือหุ้นโดยรวม คณะกรรมการบริษัทจึงจัดให้มีการแบ่งแยกบทบาทหน้าที่ของคณะกรรรมการและฝ่ายบริหารชัดเจน โดยฝ่ายบริหารจะเป็นผู้หาข้อมูลต่างๆ เพื่อประกอบการพิจารณาและคณะกรรมการมีหน้าที่ในการพิจารณาเรื่องต่างๆ
  • คณะกรรมการบริษัทมุ่งหวังที่จะให้กิจการของบริษัทมีความมั่นคง และมีความสำเร็จทางธุรกิจที่ยั่งยืนอยู่ได้ในระยะยาว จึงได้ร่วมกับฝ่ายบริหารพิจารณาทบทวนกำหนดวิสัยทัศน์ และภารกิจที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงกำหนดเป้าหมาย แผนธุรกิจและแผนงบประมาณ โดยคำนึงถึงการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงสุดและความมั่นคงในระยะยาวของบริษัทและของผู้ถือหุ้นเป็นประจำทุกปี ตลอดจนทำหน้าที่ในการกำกับดูแลและติดตามการดำเนินการของฝ่ายบริหารให้เป็นไปตามแผนธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
  • คณะกรรมการบริษัทได้สนับสนุนให้เกิดระบบบรรษัทภิบาลในการบริหารงานภายในองค์กร คณะกรรมการบริษัทจึงได้เป็นผู้นำในการกำหนดแนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดี หลักจรรยาบรรณมาตรการ และขั้นตอนการอนุมัติ การทำรายการระหว่างกันกับบริษัทที่เกี่ยวข้อง หรือบุคคลที่อาจมีความขัดแย้ง รวมถึงการแบ่งแยกขอบเขตอำนาจหน้าที่อย่างชัดเจนระหว่างผู้ถือหุ้นกับคณะกรรมการ คณะกรรมการกับผู้บริหารและคณะอนุกรรมการชุดต่างๆ เพื่อให้เกิดการถ่วงดุลอำนาจและสามารถตรวจสอบซึ่งกันได้อย่างอิสระ
5.4 ความขัดแย้งทางผลประโยชน์
  • คณะกรรมการบริษัทจะพิจารณาการทำรายการระหว่างกันที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ระหว่างผู้ถือหุ้นกรรมการและฝ่ายบริหารด้วยความรอบคอบ ซื่อสัตย์สุจริตอย่างมีเหตุมีผลและเป็นอิสระภายในกรอบจริยธรรมที่ดี ตลอดจนการเปิดเผยข้อมูลอย่างครบถ้วน เพื่อผลประโยชน์ของบริษัทโดยรวมเป็นสำคัญ โดยยึดถือการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามประกาศคำสั่ง หรือข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอย่างเคร่งครัด รวมทั้งให้คณะกรรมการตรวจสอบให้ความเห็นเกี่ยวกับความจำเป็นและความเหมาะสมของการทำรายการที่เกี่ยวโยงกันนั้น
  • คณะกรรมการบริษัทได้กำหนดให้มีมาตรการและขั้นตอนการอนุมัติการทำรายการระหว่างกันกับบริษัทที่เกี่ยวข้อง หรือบุคคลที่อาจมีความขัดแย้ง โดยห้ามมิให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งทางตรงและทางอ้อม มีส่วนร่วมในการพิจารณาและอนุมัติรายการ และกำหนดให้คณะกรรมการตรวจสอบร่วมพิจารณา และให้ความเห็นเกี่ยวกับความจำเป็นและความสมเหตุสมผลของรายการที่นำเสนอนั้น เพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัท ตลอดจนให้มีการเปิดเผยข้อมูลการทำรายการระหว่างกันไว้ในหมายเหตุประกอบงบการเงินตามมาตรฐานการบัญชีที่รับรองโดยทั่วไปในรายงานประจำปี
5.5 จริยธรรมทางธุรกิจ
  • คณะกรรมการบริษัทได้จัดทำหลักจรรยาบรรณสำหรับผู้บริหารและพนักงาน (Code of Conduct) เพื่อให้ผู้บริหารและพนักงานทุกคนได้ใช้เป็นแนวทางการปฏิบัติงานในหน้าที่ และยึดถือประพฤติปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอและเคร่งครัด โดยครอบคลุมทั้งด้านการประกอบธุรกิจด้วยความซื่อสัตย์และสุจริตการปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้วยความเท่าเทียมและเป็นธรรม การป้องกันการละเมิดต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ การรักษาความลับและการใช้ข้อมูลในทางที่ผิด ตลอดจนเรื่องการรับสินบนของขวัญและของรางวัล ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ฝ่ายตรวจสอบภายในติดตามและตรวจสอบการปฏิบัติตามหลักจรรยาบรรณนี้
  • คณะกรรมการบริษัทจะติดตามและดูแลให้การประกอบธุรกิจของบริษัท การปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการ การดำเนินการของฝ่ายบริหารและการปฏิบัติงานของพนักงานยึดมั่นอยู่ในกรอบของคุณธรรมและจริยธรรมอันดี นอกเหนือจากระเบียบข้อบังคับของบริษัทและกรอบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
5.6 การถ่วงดุลของกรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหาร
  • โครงสร้างคณะกรรมการบริษัทประกอบด้วย ประธานกรรมการที่เป็นกรรมการอิสระ กรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหารและเป็นกรรมการอิสระจำนวน 7 คน กรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหารจำนวน 3 คนและกรรมการที่เป็นผู้บริหารจำนวน 1 คน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 บริษัทมีกรรมการจำนวนทั้งสิ้น 11 คน
5.7 การรวมหรือแยกตำแหน่งเพื่อการถ่วงดุลอำนาจการบริหารงาน

คณะกรรมการบริษัทกำหนดแบ่งแยกขอบเขต อำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบระหว่างคณะกรรมการบริษัท คณะกรรมการบริหาร คณะกรรมการตรวจสอบ คณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทนรวมถึงประธานเจ้าหน้าที่บริหารไว้อย่างชัดเจน รวมถึงการกำหนดให้บุคคลผู้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการไม่เป็นบุคคลเดียวกันกับผู้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหารหรือประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และไม่มีความสัมพันธ์ใดๆ กับฝ่ายบริหาร เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้บริหารคนใดคนหนึ่งมีอำนาจโดยไม่จำกัดและสามารถที่จะสอบทานถ่วงดุลการบริหารงานได้

ประธานกรรมการมีหน้าที่และความรับผิดชอบในฐานะผู้นำคณะกรรมการในการกำกับดูแลกิจการ รวมถึงการเป็นประธานในที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นและคณะกรรมการบริษัทให้ดำเนินการประชุมอย่างเหมาะสมและโปร่งใส และเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมสามารถใช้สิทธิประโยชน์ในการซักถาม แสดงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และมีส่วนร่วมในการออกเสียงในที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นในเรื่องสำคัญต่างๆ

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการกำหนดแผนธุรกิจ การลงทุน และแผนงบประมาณประจำปีเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการบริหารและ/หรือคณะกรรมการบริษัท รวมถึงการบริหารจัดการนโยบายการบริหารงานด้านต่างๆ เพื่อให้บริษัทบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้

5.8 บทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริษัท
  • ในรอบปี 2565 คณะกรรมการบริษัทได้ทำหน้าที่ในการพิจารณาและให้ความเห็นชอบในเรื่องที่สำคัญเกี่ยวกับการดำเนินงาน รวมทั้งกำกับดูแลให้ฝ่ายจัดการดำเนินงานตามนโยบายและแผน รวมถึงงบประมาณที่กำหนดไว้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
  • ตามที่คณะกรรมการบริษัทได้กำหนดนโยบายการกำกับดูแลกิจการของบริษัทเป็นลายลักษณ์อักษร และให้ความเห็นชอบในนโยบายดังกล่าวไว้แล้วนั้น คณะกรรมการบริษัทได้มีการทบทวนเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
  • โดยในปี 2565 ได้มีการประชุมรับทราบเพื่อทบทวนนโยบายการกับดูแลกิจการ เป็นจำนวน 4 ครั้ง ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2565, วันที่ 12 พฤษภาคม 2565, วันที่ 11 สิงหาคม 2565 และ วันที่ 9 พฤศจิกายน 2565
  • คณะกรรมการบริษัทได้จัดทำหลักจรรยาบรรณธุรกิจที่เป็นลายลักษณ์อักษรขึ้นไว้แล้ว และได้เผยแพร่แจกจ่ายให้แก่กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานที่เข้าใหม่ และดำเนินการทบทวนจรรยาบรรณต่างๆ สำหรับกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานเดิม เพื่อให้เข้าใจถึงมาตรฐานด้านจริยธรรมที่บริษัทใช้ในการดำเนินธุรกิจ และคณะกรรมการได้มอบหมายให้ฝ่ายตรวจสอบภายใน ติดตามการปฏิบัติตามจรรยาบรรณดังกล่าวอย่างใกล้ชิด
  • คณะกรรมการบริษัทได้จัดให้มีระบบการควบคุมด้านการรายงานทางการเงินและการปฏิบัติตามกฎระเบียบต่างๆ ซึ่งจะมีหน่วยงานตรวจสอบภายในทำหน้าที่ดังกล่าว ซึ่งมีความอิสระต่อการปฏิบัติหน้าที่และได้มีการทบทวนระบบดังกล่าวอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
  • คณะกรรมการบริษัทให้ความสำคัญกับการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น โดยมีนโยบายเป็นลายลักษณ์อักษร มีกระบวนการการติดตามเพื่อให้กรรมการ ผู้บริหาร พนักงานและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องปฏิบัติตามนโยบายและมาตรการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น มีการเปิดช่องทางการแจ้งเบาะแส มีคณะกรรมการและประธานกรรมการคณะทำงานที่เป็นผู้บริหารระดับสูง มีการประเมินความเสี่ยงด้านทุจริตคอร์รัปชั่น และมีการให้ความรู้แก่พนักงาน อีกทั้งการเข้าร่วมภาคีเครือข่ายเพื่อการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น
  • คณะกรรมการบริษัทได้แสดงเจตนารมย์เข้าร่วมปฏิบัติภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต โดยบริษัทฯ ได้ร่วมสัตยาบรรณเพื่อรับทราบข้อตกลงตามคำประกาศเจตนารมณ์ของแนวร่วมดังกล่าวในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นทุกรูปแบบ เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2563 และได้มีมติให้การรับรองเป็นสมาชิกของแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชั่นของภาคเอกชนไทยในวันที่ 1 กรกฎาคม 2565
5.9 การประชุมคณะกรรมการบริษัท
  • คณะกรรมการบริษัทจะจัดให้มีการประชุมคณะกรรมการไม่น้อยกว่าปีละ 4 ครั้ง และดำเนินการประชุมให้เป็นไปตามข้อบังคับของบริษัทและพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 และกฎระเบียบของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยประธานกรรมการในฐานะประธานในที่ประชุมจะส่งเสริมให้มีการใช้ดุลยพินิจที่รอบคอบและจัดสรรเวลาอย่างเพียงพอที่ฝ่ายบริหารจะเสนอเรื่องและมากพอที่กรรมการจะอภิปรายปัญหาสำคัญกันอย่างรอบคอบโดยทั่วกัน และจัดให้มีการจดบันทึกรายงานการประชุมทุกครั้งเพื่อให้กรรมการและผู้เกี่ยวข้องสามารถตรวจสอบได้ กรรมการมีหน้าที่ต้องเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการทุกครั้ง ยกเว้นกรณีที่มีเหตุผลพิเศษ
  • ก่อนการประชุมคณะกรรมการบริษัทในปี 2565 นั้นในช่วงปลายปี 2564 เลขานุการบริษัทได้จัดทำ กำหนดการประชุมประจำปี เพื่อให้คณะกรรมการรับทราบกำหนดการประชุมล่วงหน้าตลอดทั้งปี ทั้งนี้เพื่อให้กรรมการสามารถวางแผนล่วงหน้าและจัดเวลาในการเข้าร่วมประชุมได้
  • ในการจัดประชุมแต่ละครั้งในปี 2565 เลขานุการบริษัทได้จัดส่งเอกสารประชุมให้แก่กรรมการพิจารณาล่วงหน้าเฉลี่ย 7 วันก่อนการประชุมและได้มีการจัดทำเอกสารและสารสนเทศประกอบการประชุม
  • การจัดประชุมเป็นไปตามข้อบังคับของบริษัทและพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 อย่างเคร่งครัด และต้องมีกรรมการมาเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนกรรมการทั้งหมดจึงครบเป็นองค์ประชุม โดยเปิดโอกาสให้กรรมการอภิปรายปัญหาสำคัญกันอย่างรอบคอบโดยทั่วกัน และมีเลขานุการบริษัทและที่ปรึกษากฎหมายเข้าร่วมการประชุมและจดบันทึกรายงานการประชุม ข้อซักถามและข้อเสนอแนะต่างๆ ของกรรมการ เพื่อให้กรรมการและผู้เกี่ยวข้องสามารถติดตามและตรวจสอบได้
  • กำหนดนโยบายให้กรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหารมีโอกาสที่จะประชุมกันเอง อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่ออภิปรายปัญหาต่างๆเกี่ยวกับการจัดการที่อยู่ในความสนใจ โดยไม่มีฝ่ายจัดการร่วมด้วย และแจ้งให้ประธานเจ้าหน้าที่บริหารทราบถึงผลการประชุมด้วย โดยในปี 2565 ได้มีการประชุมของกรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหาร เป็นจำนวน 1 ครั้ง ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2565
5.10 การประเมินตนเองของคณะกรรมการ

ในเดือนธันวาคมของทุกปี เลขานุการบริษัทได้จัดทำ “แบบประเมินตนเองของคณะกรรมการ” (CG Self Assessment) นำเสนอคณะกรรมการบริษัท และคณะกรรมการชุดต่างๆ เพื่อทำการประเมินตนเองแบบทั้งคณะและแบบรายบุคคล เพื่อพิจารณาผลงานและแก้ไขปัญหาต่างๆ ตลอดจนปรับปรุงประสิทธิภาพและประสิทธิผลการทำงานให้ดีขึ้น ซึ่งเกณฑ์ในการประเมินแบ่งตามหัวข้อ 6 หัวข้อ ได้แก่

  1. โครงสร้างและคุณสมบัติของคณะกรรมการ
  2. บทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของคณะกรรมการ
  3. การประชุมคณะกรรมการ
  4. การทำหน้าที่ของกรรมการ
  5. ความสัมพันธ์กับฝ่ายจัดการ
  6. การพัฒนาตนเองของกรรมการและการพัฒนาผู้บริหาร

ในปี 2565 ผลการประเมินการปฏิบัติงานของคณะกรรมการบริษัท และประธานกรรมการบริหาร ดังนี้

  • ผลการประเมินการปฏิบัติงานของคณะกรรมการบริษัท โดยการประเมินรายคณะ ในภาพรวมทุกหัวข้ออยู่ในระดับ ดีมาก ด้วยได้คะแนนรวมร้อยละ 97.49
  • ผลการประเมินการปฏิบัติงานของการประเมินตนเองของคณะกรรมการชุดย่อยแบบรายคณะในภาพรวมทุกหัวข้ออยู่ในระดับ ดีมาก ด้วยได้คะแนนรวมร้อยละ 98.94
  • ผลการประเมินการปฏิบัติของ การประเมินของกรรมการและกรรมการชุดย่อยรายบุคคล ในภาพรวมทุกหัวข้อ อยู่ในระดับ ดีมาก ด้วยได้คะแนนรวมร้อยละ 99.30
  • ผลการลงมติการประเมินผลการปฏิบัติงานของประธานเจ้าหน้าที่บริหารปี 2565 ในภาพรวมทุกหัวข้อ อยู่ในระดับ ดีมาก ด้วยได้คะแนนรวมร้อยละ 99.85
5.11 การพัฒนากรรมการและผู้บริหาร
  • คณะกรรมการบริษัทได้ส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้มีการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาและให้ความรู้แก่กรรมการที่เกี่ยวข้องรวมถึงในคณะอนุกรรมการต่างๆ เพื่อให้มีการปรับปรุงการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่องโดยมีคณะกรรมการบริษัทจำนวน 10 คน ที่ได้ผ่านการอบรมหลักสูตร Director Accreditation Program (DAP) และ/หรือ Director Certification Program (DCP) จากสถาบัน IOD เรียบร้อยแล้ว
  • เลขานุการคณะกรรมการบริษัทได้จัดให้มีเอกสารคู่มือกรรมการและหลักเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูล ประวัติการถือครองหลักทรัพย์การเปลี่ยนแปลงการถือครองหลักทรัพย์ เป็นต้น โดยจะจัดส่งให้ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงกรรมการใหม่

ในปี 2565 กรรมการบริษัทได้เข้าร่วมอบรมสัมมนาครบคิดเป็นร้อยละ 100

5.12 การปฐมนิเทศกรรมการใหม่

คณะกรรมการบริษัทกำหนดให้มีการปฐมนิเทศกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งใหม่ โดยมอบหมายให้เลขานุการบริษัทเป็นผู้ดำเนินการจัดเตรียมข้อมูลบริษัท ภาพรวมธุรกิจ โครงสร้างการถือหุ้น โครงสร้างองค์กร คู่มือกรรมการ และกำหนดการประชุม เพื่อให้กรรมการใหม่รับทราบถึงบทบาท หน้าที่ ความรับผิดชอบของกรรมการ นโยบายและแนวปฏิบัติในการกำกับดูแลกิจการของบริษัท ตลอดจนสร้างความรู้ความเข้าใจในธุรกิจและการดำเนินงาน และเพื่อชี้แจงตอบข้อซักถาม รวมถึงการเยี่ยมชมหน่วยงานต่างๆ ของบริษัท เพื่อเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการ

5.13 การจัดทำแผนสืบทอดตำแหน่ง

บริษัทฯ ได้จัดทำการสรรหาบุคคลที่มีความรู้ความสามารถมาดำรงตำแหน่งในบริษัทฯ เพื่อเตรียมความพร้อมทดแทนตำแหน่งที่อาจว่างลง ตลอดจนรองรับตำแหน่งที่อาจต้องกำหนดขึ้นใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางของบริษัทในอนาคต และสร้างโอกาสในการทำธุรกิจใหม่ของบริษัท ทั้งนี้ เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน ตลอดจนพนักงานว่าการดำเนินงานของบริษัทฯ จะได้รับการสานต่ออย่างต่อเนื่องและทันท่วงที โดยมีแผนการดำเนินงาน ดังนี้

ในกรณีที่ตำแหน่งประธานกรรมการบริหารว่างลง คณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทนจะทำหน้าที่พิจารณาคัดเลือกจากรองประธานกรรมการบริหารของบริษัทฯ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 1 ท่าน หรืออาจพิจารณาสรรหาและคัดเลือกบุคคลภายนอกที่มีความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ และคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ที่บริษัท กำหนด และนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการ และที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาอนุมัติตามลำดับ

ในกรณีที่ผู้บริหารระดับสูงว่างลง ฝ่ายบริหารทรัพยากรมนุษย์จะเสนอผู้สืบทอดตำแหน่ง ตามที่ได้จัดทำแผนรองรับไว้ สำหรับผู้บริหารตั้งแต่ระดับผู้อำนวยการฝ่ายขึ้นไป ซึ่งได้ระบุตัวบุคคลที่จะปฏิบัติหน้าที่แทน (Successor) ไว้ และในกรณีที่ยังไม่มีบุคคลที่เหมาะสมและสามารถปฏิบัติหน้าที่แทนได้ ได้จัดให้มีระบบพัฒนาบุคลากรในลำดับรองลงมาเพื่อเตรียมความพร้อม รวมทั้งอาจสรรหาและคัดเลือกบุคคลภายนอกที่มีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ที่บริษัทกำหนด ทั้งนี้ ฝ่ายบริหารทรัพยากรมนุษย์ได้กำหนดกระบวนการจัดทำการวางแผนการสืบทอดตำแหน่ง (Succession plan) ดังนี้

  1. กำหนดตำแหน่งงานสำคัญที่ต้องจัดทำ Succession Plan เช่น ผู้บริหารที่จะเกษียณอายุ ภายใน 3-5 ปี เป็นต้น
  2. วิเคราะห์และกำหนด Competency ของผู้บริหาร และพนักงานในระดับ Chief, Director และ Department Manager ของตำแหน่งที่ต้องการจัดทำ Succession Plan
  3. กำหนดหลักเกณฑ์ในการสรรหา คัดเลือก และเลื่อนระดับตำแหน่งพนักงาน
  4. ค้นหา และประเมินกลุ่มบุคคลากรที่มีความพร้อมในการสืบทอดตำแหน่ง (Pool of Candidate) จากข้อมูลพื้นฐานของแผนกบริหารทรัพยากรมนุษย์
  5. จัดทำแผนกการฝึกอบรมของฝ่าย หรือตำแหน่งงานที่จะจัดทำ Succession Plan
  6. จัดทำ และดำเนินการฝึกอบรมพัฒนา Pool of Successors ตาม Group / Individual Development Plan
  7. ติดตามผลการพัฒนาและผลการปฏิบัติงานของ Pool of Successors ตามตัวชี้วัดที่กำหนด
  8. การเลื่อนระดับตำแหน่ง
  9. สรุปประเมินผลการดำเนินโครงการ Succession Plan และรายงานผลการดำเนินงานตามแผนการสืบทอดตำแหน่งต่อคณะกรรมการเพื่อทราบเป็นระยะ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
5.14 คณะกรรมการชุดย่อย

รายละเอียดเกี่ยวกับคณะกรรมการชุดย่อยแสดงในหัวข้อโครงสร้างการจัดการ ส่วนที่ 2 ของรายงานประจำปี/แบบรายการข้อมูลประจำปี 2565 (แบบ 56-1 One Report)

5.15 การสรรหาและแต่งตั้งกรรมการ กรรมการอิสระ กรรมการตรวจสอบ และผู้บริหารระดับสูง

รายละเอียดเกี่ยวกับคณะกรรมการชุดย่อยแสดงในหัวข้อโครงสร้างการจัดการ ส่วนที่ 2 ของรายงานประจำปี/แบบรายการข้อมูลประจำปี 2565 (แบบ 56-1 One Report)

คณะกรรมการบริษัท

ในรอบปี 2565 คณะกรรมการบริษัทมีการประชุมรวมทั้งหมดจำนวน 6 ครั้ง ซึ่งได้มีการประชุมให้เป็นไปตามข้อบังคับของบริษัทและพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 อย่างเคร่งครัด มีส่วนร่วมในการกำหนดวิสัยทัศน์ นโยบาย เป้าหมาย แผนธุรกิจ และงบประมาณของบริษัทฯ โดยคำนึงถึงจริยธรรมและผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสียเป็นสำคัญ นอกเหนือจากผลประกอบการทางการเงิน ซึ่งได้พิจารณาทบทวนและอนุมัติในรอบปีบัญชีที่ผ่านมา ตลอดจนกำกับดูแลให้ฝ่ายบริหารดำเนินการให้เป็นไปตามแผน กลยุทธ์ และงบประมาณที่กำหนดไว้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล มีการจัดส่งระเบียบวาระการประชุมและสารสนเทศที่เกี่ยวข้องให้กรรมการได้ศึกษาและพิจารณาล่วงหน้าเฉลี่ย 7 วันก่อนการประชุม และเปิดโอกาสให้กรรมการอภิปรายปัญหาสำคัญกันอย่างรอบคอบ โดยทั่วกันโดยมีเลขานุการคณะกรรมการและที่ปรึกษากฎหมายเข้าร่วมการประชุมและจดบันทึกรายงานการประชุม ข้อซักถาม และข้อเสนอแนะต่างๆของกรรมการด้วยเพื่อให้กรรมการ และผู้เกี่ยวข้องสามารถติดตามและตรวจสอบได้

คณะกรรมการบริหาร

ในรอบปี 2565 คณะกรรมการบริหารได้ปฏิบัติหน้าที่ในการบริหารจัดการกิจการของบริษัท พิจารณากำหนดนโยบายต่างๆ แผนธุรกิจ แผนการลงทุนและแผนงานงบประมาณประจำปี 2566 ของบริษัทเพื่อนำเสนอให้คณะกรรมการบริษัท พิจารณาอนุมัติติดตาม กำกับและควบคุมให้การปฏิบัติงานบรรลุตามเป้าหมายของแผนงานที่ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัท และตามที่คณะกรรมการบริษัทมอบหมาย และได้รายงานผลการดำเนินงานของบริษัทแต่ละไตรมาส ตลอดปี 2565 รวมถึงผลประกอบการประจำปีให้ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเพื่อทราบ

คณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน

การทำหน้าที่สรรหา

ในรอบปี 2565 คณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทนได้ปฏิบัติหน้าที่ในการสรรหากรรมการที่พ้นจากตำแหน่งตามวาระการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2565 จำนวน 3 คน โดยพิจารณาถึงคุณสมบัติ ความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์เกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจของบริษัท ประวัติการทำงานที่ดี รวมทั้งในด้านจริยธรรม ซึ่งกรรมการที่พ้นจากตำแหน่งตามวาระทั้ง 3 คน โดยพิจารณาถึงคุณสมบัติ ความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์เกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจของบริษัท ประวัติการทำงานที่ดี รวมทั้งในด้านจริยธรรม ซึ่งกรรมการที่พ้นจากตำแหน่งตามวาระทั้ง 4 คน มีความเหมาะสม จึงนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทให้กลับเข้าดำรงตำแหน่งต่อไปอีกวาระหนึ่ง และที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปีได้พิจารณาอนุมัติดังกล่าว

การทำหน้าที่กำหนดค่าตอบแทน

คณะกรรมการกำหนดค่าตอบแทน ได้ปฏิบัติหน้าที่ในการพิจารณากำหนดค่าตอบแทนให้แก่กรรมการบริษัทซึ่งมิได้เป็นพนักงานและผู้บริหาร และกำหนดรายละเอียดการจัดสรรค่าตอบแทนให้แก่กรรมการสำหรับปี 2565 โดยพิจารณาถึงความเหมาะสมกับภาระหน้าที่ความรับผิดชอบที่ได้รับมอบหมาย และเทียบเคียงได้กับค่าตอบแทนกรรมการในบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่มีขนาดธุรกิจใกล้เคียงกันตลอดจนคำนึงถึงผลประกอบการ ผลงาน สภาพแวดล้อมทางธุรกิจ และสภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และได้นำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท และที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปีพิจารณาอนุมัติดังกล่าว

คณะกรรมการทำหน้าที่กำหนดนโยบาย วิสัยทัศน์ กลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ เป้าหมาย ภารกิจ แผนธุรกิจ และงบประมาณของบริษัทตลอดจนกำกับดูแลให้ฝ่ายจัดการบริหารงานให้เป็นไปตามนโยบายที่กำหนดไว้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลภายใต้กรอบของกฎหมาย วัตถุประสงค์ ข้อบังคับของบริษัทฯ และมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นด้วยความรับผิดชอบ ซื่อสัตย์สุจริต ระมัดระวังตามหลักการข้อพึงปฏิบัติที่ดีสำหรับกรรมการบริษัทจดทะเบียนของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย นอกจากนั้นคณะกรรมการยังได้ควบคุม และตรวจสอบการบริหารของฝ่ายจัดการให้เป็นไปอย่างโปร่งใส มีจริยธรรม และเป็นไปตามจรรยาบรรณของผู้บริหารและพนักงาน และดูแลการสื่อสารและการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทฯ ให้เป็นไปอย่างเหมาะสม ทั้งนี้ คณะกรรมการของบริษัทฯ ภายใต้การนำของประธานกรรมการที่มีภาวะผู้นำและสามารถควบคุม การดำเนินการของผู้บริหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงสุดให้แก่กิจการ และความมั่นคงสูงสุดให้แก่ผู้ถือหุ้น

อนึ่ง บริษัทฯ มีประธานคณะกรรมการบริษัทฯ และประธานเจ้าหน้าที่บริหารเป็นบุคคลคนละคนกันโดยประธานคณะกรรมการบริษัทฯ มีความเป็นอิสระจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่และจากฝ่ายจัดการ โดยไม่มีตำแหน่งเป็นผู้บริหารหรือพนักงานประจำของบริษัทฯ ไม่มีผลประโยชน์หรือส่วนได้เสียไมว่าทางตรงหรือทางอ้อมทั้งในนด้านการเงินและการบริหารงานของบริษัทฯ โดยประธานคณะกรรมการบริษัทฯ ถูกเลือกจากกรรมการอิสระ

คณะกรรมการได้ปฏิบัติงานให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กฎระเบียบของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ข้อพึงปฏิบัติสำหรับกรรมการบริษัทจดทะเบียนของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รวมถึงคณะกรรมการกำกับตลาดทุน และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัทฯ

สำหรับหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีในส่วนที่บริษัทยังไม่ได้มีการปฏิบัติ บริษัทจะนำไปพิจารณาหาแนวทางในการปรับใช้ให้เหมาะสมต่อไป

1. คณะกรรมการควรกำหนดให้กรรมการอิสระมีวาระการดำรงตำแหน่งต่อเนื่องไม่เกิน 9 ปี นับจากวันที่แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งกรรมการอิสระครั้งแรก

คณะกรรมการไม่มีการกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการอิสระและกรรมการ เนื่องจากกรรมการแต่ละท่านเป็นผู้มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ในอุตสาหกรรมของบริษัทเป็นอย่างดีซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่บริษัทอย่างสูงสุด

2. คณะกรรมการของบริษัท มีกรรมการอิสระที่ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการในบริษัทจดทะเบียนมากกว่า 5 แห่ง

คณะกรรมการไม่มีการกำหนดจำนวนการดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการในบริษัทจดทะเบียนของกรรมการอิสระและกรรมการ เนื่องจากกรรมการแต่ละท่านเป็นผู้มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ในอุตสาหกรรมของบริษัทเป็นอย่างดีซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่บริษัทอย่างสูงสุด