คณะกรรมการบริษัทได้ให้ความสำคัญต่อระบบการควบคุมภายในและตรวจสอบภายในที่มีประสิทธิภาพทั้งในระดับบริหารและระดับปฏิบัติการ คณะกรรมการบริษัทและผู้บริหารมีหน้าที่และความรับผิดชอบโดยตรงในการจัดให้มีและรักษาไว้ซึ่งระบบการควบคุมภายใน และการประเมินความเพียงพอของระบบควบคุมภายในของบริษัทฯ รวมถึงการกำหนดทิศทางการดำเนินธุรกิจ การพัฒนาระบบสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อสนับสนุนระบบการตัดสินใจการกำหนดขอบเขตอำนาจหน้าที่ และการกำหนดวงเงินอนุมัติของฝ่ายบริหารในแต่ละระดับ ตลอดจนมีการกำหนดระเบียบวิธีปฏิบัติของพนักงานแต่ละสายงานไว้อย่างชัดเจนการกำหนดกรอบปฏิบัติตามหลักจรรยาบรรณ รวมถึงการมีมาตรการควบคุม และขั้นตอนในการทำรายการระหว่างกันของบริษัท กับบุคคลที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์และมีการใช้นโยบายบัญชีตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไปซึ่งผู้สอบบัญชีมีความเป็นอิสระในการแสดงความเห็นและการเข้าถึงข้อมูลที่เป็นสาระสำคัญ

คณะกรรมการบริษัทได้พิจารณาประเมินความเพียงพอของระบบการควบคุมภายในของบริษัทประจำปี 2565 แล้วมีสาระสำคัญทั้ง 5 ส่วนดังนี้

  • ส่วนที่ 1 การควบคุมภายในองค์กร (Control Environment)
  • ส่วนที่ 2 การประเมินความเสี่ยง (Risk Assessment)
  • ส่วนที่ 3 การควบคุมการปฏิบัติงาน (Control Activities)
  • ส่วนที่ 4 ระบบสารสนเทศ และการสื่อสารข้อมูล (Information & Communication)
  • ส่วนที่ 5 ระบบการติดตาม (Monitoring Activities)

บริษัทฯ ได้ประเมินและติดตามความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอ โดยจะวิเคราะห์เพื่อระบุปัจจัยทั้งภายนอกและภายใน และสัญญาณเตือนภัยต่างๆ รวมทั้งผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อที่บริษัทจะดำเนินการจัดการและบริหารความเสี่ยงที่เกิดขึ้นอย่างเหมาะสม ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัทได้การติดตามผลอย่างต่อเนื่อง และมีการกำหนดมาตรการในการควบคุมความเสี่ยงด้านต่างๆ ตลอดจนกำหนดวิธีการในการตรวจติดตามเหตุการณ์ที่เป็นสาเหตุของปัจจัยความเสี่ยงเพื่อลดความเสี่ยงอันที่จะมีผลกระทบกับบริษัทอย่างเหมาะสม ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัทได้การติดตามผลอย่างต่อเนื่อง และมีการกำหนดมาตรการในการควบคุมความเสี่ยงด้านต่างๆ ตลอดจนกำหนดวิธีการในการตรวจติดตามเหตุการณ์ที่เป็นสาเหตุของปัจจัยความเสี่ยงเพื่อลดความเสี่ยงอันที่จะมีผลกระทบกับบริษัทของปัญหา และการแก้ไขเป็นประจำทุกเดือน หรือตามกรณีฉุกเฉินที่เกิดขึ้น และมีช่องทางต่างๆ ในการสื่อสารและทำความเข้าใจกับพนักงานทุกคนในองค์กรเพื่อรับทราบและปฏิบัติตามมาตรการบริหารความเสี่ยงที่กำหนดไว้ นอกจากนี้ยังกำหนดมาตรการในการติดตามเหตุการณ์และปัจจัยความเสี่ยงให้มีอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการพิจารณาและประเมินความเสี่ยงที่ต้องดำเนินการแก้ไขตามลำดับความสำคัญของความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในการลดความเสี่ยงเหล่านั้น เพื่อให้บริษัทดำเนินการได้ตามเป้าหมายที่วางไว้บริษัทได้มีการติดตามการปฏิบัติงานของหน่วยงานต่างๆ ว่าได้ปฏิบัติตามแผนการบริหารความเสี่ยงที่กำหนดไว้อย่างต่อเนื่อง โดยมีการกำหนดตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงในการติดตามการปฏิบัติงาน โดยจะมีการรายงานต่อผู้บริหารระดับสูงและคณะกรรมการบริษัททุกเดือน

คณะกรรมการบริษัทได้จัดให้มีหน่วยงานตรวจสอบภายในโดยมีนายนิพนธ์ สุนทราจารย์ เป็นหัวหน้าหน่วยงานตรวจสอบภายใน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในระบบควบคุมภายในของบริษัทอย่างสม่ำเสมอ การปฏิบัติตามกฎหมายระเบียบข้อบังคับที่กำหนดขึ้นทั้งภายในและภายนอกองค์กร และการปฏิบัติตามระบบการควบคุมภายใน นอกจากนี้ยังรวมถึงการให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะแก่หน่วยงานต่างๆ ด้านการควบคุมภายในโดยมุ่งเน้นให้เกิดการควบคุมตนเอง (Self-Control)

นายนิพนธ์ สุนทราจารย์ (47 ปี)

ตำแหน่ง : ผู้อำนวยการฝ่ายตรวจสอบภายใน

คุณวุฒิทางการศึกษา : ปริญญาตรี บัญชีบัณฑิตคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่(เกียรตินิยม อันดับ 2)

ประสบการณ์ทำงานในระยะ 5 ปีย้อนหลัง :

  • 2550-ปัจจุบัน : ผู้อำนวยการฝ่ายตรวจสอบภายใน บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน)

ประวัติการอบรม :

  1. หลักสูตร Corruption Risk and Control Workshop 2020 โดย Thai Institute of Directors (IOD)
  2. หลักสูตร Risk Management Plan Workshop โดยสถาบันอบรมภายใน

หน้าที่ความรับผิดชอบของหัวหน้างานตรวจสอบภายใน :

  1. จัดโครงสร้างแบ่งงานความรับผิดชอบและบริหารงานทั่วไปภายในสำนักตรวจสอบ Design the overall structure
  2. จัดทำคู่มือและมาตรฐานการปฏิบัติงานของผู้ตรวจสอบภายใน และสอบทานผู้ตรวจสอบว่าได้ปฏิบัติตามมาตรฐานที่ได้วางไว้
  3. จัดทำแผนการตรวจสอบประจำปี ที่ได้ผ่านการพิจารณาและเห็นชอบจากคณะกรรมการตรวจสอบ
  4. จัดทำงบประมาณประจำปี และตัวชี้วัดความสำเร็จของงานตรวจสอบ
  5. สอบทานแนวการตรวจสอบ (Audit Program) ของแต่ละงานตรวจสอบทั้งด้านปฏิบัติงาน ด้านสารสนเทศ เพื่อให้มีการใช้ทรัพยากร อย่างคุ้มค่า และผลลัพธ์การตรวจสอบมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
  6. สอบทานความเหมาะสมของระบบการจัดเก็บข้อมูลและการมีอยู่จริงของทรัพย์สินของบริษัท
  7. ประเมินความเชื่อถือได้และความถูกต้องของข้อมูลด้านบัญชีการเงิน
  8. ตรวจสอบการปฏิบัติงานของหน่วยงานต่างๆ ว่าเป็นไปตามนโยบาย เป้าหมาย และข้อบังคับของบริษัทและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง มีการควบคุมภายในที่ดีเพียงพอที่จะทำให้การปฏิบัติงานบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่บริษัทตั้งไว้
  9. ตรวจสอบ/สอบสวน และดำเนินการทางกฎหมายการทุจริต
  10. สอบทานรายงานผลการตรวจสอบและติดตามผลการปฏิบัติงานตามข้อเสนอแนะ
  11. การสอบนโยบายและการปฏิบัติตามหลักการบริหารความเสี่ยงของบริษัทฯ เพื่อให้มั่นใจ ว่าบริษัทฯ มีกระบวนการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
  12. จัดทำรายงานผลการตรวจสอบเสนอฝ่ายบริหาร คณะกรรมการตรวจสอบ และคณะกรรมการบริษัท
  13. คัดเลือกและพัฒนาผู้ตรวจสอบภายในทุกระดับให้มีความรู้ความสามารถและประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้ตรวจสอบ
  14. ให้คำแนะนำและปรึกษา เกี่ยวกับระบบการควบคุมภายในและความเสี่ยงกับหน่วยงานต่างๆ
  15. ปฏิบัติงานพิเศษตามที่ได้รับมอบหมายจากฝ่ายบริหาร และคณะกรรมการตรวจสอบ
  16. ประสานงานกับผู้บริหาร คณะกรรมการตรวจสอบ ผู้สอบบัญชี และที่ปรึกษา

ตามมติที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2565 มีมติแต่งตั้งให้บริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮ้าส์คูเปอร์ส เอบีเอเอส จำกัดเป็นสำนักงานสอบบัญชีของบริษัทและบริษัทย่อยสำหรับปี 2565 โดยกำหนดให้ผู้สอบบัญชีคนใดคนหนึ่งดังนี้ เป็นผู้ทำการตรวจสอบและแสดงความเห็นต่องบการเงินของบริษัท คือ นางสาวธิตินันท์ แว่นแก้ว ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตเลขที่ 9432 นางสาวนันทิกา ลิ้มวิริยะเลิศ ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตเลขที่ 7358 นายพิสิฐ ทางธนกุล ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตเลขที่ 4095

ทั้งนี้ ผู้สอบบัญชีรายนามข้างต้น เป็นผู้สอบบัญชี และแสดงความเห็นต่องบการเงินและงบการเงินรวมของบริษัท ประจำปี 2565 โดยผู้สอบบัญชีคนใดคนหนึ่งมีอำนาจในการดำเนินการตรวจสอบและลงนามรับรองงบการเงินดังกล่าว ในกรณีที่ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตดังกล่าวข้างต้น ไม่สามารถปฏิบัติงานได้ ให้บริษัท ไพร้ช วอเตอร์เฮ้าส์ คูเปอร์ส เอบีเอเอส จำกัด จัดหาผู้สอบบัญชีรับอนุญาตอื่นของบริษัท ไพร้ช วอเตอร์เฮ้าส์ คูเปอร์ส เอบีเอเอส จำกัด แทนได้ โดยคณะกรรมการจะเป็นผู้ดูแลให้ผู้สอบบัญชีดังกล่าวจัดทำงบการเงินได้ทันตามระยะเวลากำหนด

ในการพิจารณาแต่งตั้งผู้สอบบัญชีนี้ คณะกรรมการตรวจสอบได้พิจารณาจากผลการปฏิบัติงานและความเป็นอิสระ ค่าสอบบัญชี คุณสมบัติตามที่คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกำหนดเป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจ

ข้อมูลเปรียบเทียบค่าตอบแทนผู้สอบบัญชีในปีที่ผ่านมา

ค่าตอบแทนของผู้สอบบัญชี ปี 2563 ปี 2564 ปี 2565
1. ค่าสอบบัญชีของบริษัท 4,250,000 4,250,000 3,450,000
2. ค่าสอบบัญชีของบริษัทและบริษัทย่อย 3,600,000 3,765,000 2,965,000
3. ค่าบริการอื่นๆ - ไม่มี - - ไม่มี - - ไม่มี -
รวมค่าสอบบัญชีของบริษัทและบริษัทย่อย 7,850,000 8,015,000 6,415,000

บริษัทฯ ได้กำหนดนโยบายในเรื่องจริยธรรม โดยที่กรรมการ ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ของบริษัทจะต้องพึงปฏิบัติในการใช้ข้อมูลภายในที่มีสาระสำคัญของบริษัท ซึ่งยังไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณชนเพื่อประโยชน์ของตนเองหรือผู้อื่นรวมถึงการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทโดยมีวิธีการดูแลผู้บริหารในการนำข้อมูลภายในของบริษัทไปใช้ประโยชน์เพื่อส่วนตนหรือผู้อื่นดังนี้

  1. ดำเนินการแจ้งให้ผู้บริหารฝ่ายต่างๆ เข้าใจถึงภาระหน้าที่ในการรายงานการถือหลักทรัพย์ในบริษัทของตนเอง คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ตลอดจนรายงานการปลี่ยนแปลงการถือหลักทรัพย์ตามมาตรา 59 และบทกำหนดโทษตามมาตรา 275 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535
  2. ดำเนินการส่งหนังสือเวียนแจ้งให้ผู้บริหารทราบว่าผู้บริหารที่ได้รับทราบข้อมูลภายในที่เป็นสาระสำคัญรวมถึงข้อมูลงบการเงินของบริษัทซึ่งมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงราคาหลักทรัพย์ ควรหลีกเลี่ยงหรืองดการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทในช่วงระยะเวลา 1 เดือน และห้ามไม่ให้เปิดเผยข้อมูลที่เป็นสาระสำคัญนั้นต่อบุคคลอื่นก่อนที่งบการเงินหรือข้อมูลภายในนั้นจะเปิดเผยต่อสาธารณชน ทั้งนี้บริษัทยังได้กำหนดโทษสำหรับกรณีที่มีการฝ่าฝืนในการนำข้อมูลภายในของบริษัทไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัวไว้ในระเบียบของบริษัทโดยมีโทษตั้งแต่การตักเตือนด้วยวาจาจนถึงขั้นให้ออกจากงาน
  3. คณะกรรมการบริษัทและผู้บริหารต้องรายงานการถือครองหลักทรัพย์ตามกฎหมาย ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงการถือครองหลักทรัพย์ของบริษัท รวมถึงการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับส่วนได้ส่วนเสียหรือการทำรายการระหว่างกันของกรรมการและผู้บริหารต่อเลขานุการบริษัท